• 29 มิถุนายน 2018 at 12:19








STORY/PHOTO: ปิยกิตติ์ นิตย์เจริญ


ราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศ สมบัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีมรดกโลก







นอกเหนือจากการท่องเที่ยวภูเขาที่ร่มรื่น ชายหาดที่เรียบเนียน และน้ำตกที่เย็นฉ่ำ หลายคนอาจหลงลืมไปว่าเรายังมีโบราณสถานอันวิจิตรงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากตั้งใจลัดฟ้ามาเพื่อสัมผัสสิ่งเหล่านั้นด้วยตาตัวเอง ที่มากไปกว่านั้นคือประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงาม ตลอดหนึ่งวันเต็มๆในอยุธยาอาจเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการเที่ยวเมืองเก่าของใครหลายคนไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้






เรียนรู้วันวานอย่างเข้าใจ

    เราเริ่มต้นกันที่ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา เดิมเป็นอาคารศาลากลางหลังเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างเมื่อ พ.ศ.2484 บริเวณด้านหน้าของอาคารมีเสา 6 ต้น ประดับด้วยรูปปั้นกษัตริย์และวีรกษัตริย์สำคัญสมัยอยุธยา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา 6 พระองค์ ซึ่งได้แก่ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาคารสามชั้นรูปตัวที (T) แบ่งพื้นที่เป็นสองชั้น ซึ่งชั้นล่างฝั่งขวามือเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว โดยเปิดให้บิการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น.





ในส่วนของชั้นที่สอง จัดเป็นหอนิทรรศการด้านการท่องเที่ยวของอยุธยา โดยแบ่งออกเป็น 5ส่วนคือ ส่วนที่ 1 อยุธยามรดกโลก จัดแสดงภูมิศาสตร์ที่ตั้งของอยุธยา แผนที่ผังเมืองอยุธยาทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและปัจจุบัน ซึ่งรายล้อมไปด้วยวัดและพระราชวังอันมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น จนได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้นครแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นเมืองมรดกโลก ส่วนที่ 2 ท่องเที่ยวเมืองอยุธยา หลังจากทราบประวัติของกรุงศรอยุธยาจากส่วนที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ 2 จะแนะนำถึงแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัด และโบราณสถานที่ล้ำค่าและยังคงความงดงามมาจนทุกวันนี้ ส่วนที่ 3 ศิลปกรรมล้ำค่าแห่งกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงภาพจำลองของวัดวาอารามและพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเป็นราชธานี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถชมวิดีทัศน์แนะนำเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ในอยุธยา







โดยมีการ์ตูนรถตุ๊กตุ๊ก พาหนะสำคัญประจำจังหวัดมาเป็นตัวเล่าเรื่องและแนะนำเส้นทางไหว้พระ 9 วัดให้แก่นักท่องเที่ยว ส่วนที่ 4 วิถีชาวกรุงเก่าอารยธรรมชาวน้ำ ในส่วนนี้เป็นการจัดแสดงความเป็นอยู่ของชาวอยุธยา ซึ่งมีความผูกพันธ์กับสายน้ำมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนแผนที่ของชุมชนชาวต่างชาติที่เดินทางมาทำการค้ากับอยุธยาในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีการแนะนำบ้านพัก สัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจไปพักกันเป็นจำนวนมากในรูปแบบของวิดีทัศน์อีกด้วย มาถึงส่วนที่ 5 สีสันชีวิตชาวอยุธยา ในส่วนนี้เป็นการจัดแสดงบรรยากาศตลาดบกและตลาดน้ำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอยุธยา มีการจัดแสดงร้านขายกาแฟ ร้านขายของชำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงบรรยากาศของความเป็นอยุธยาอย่างแท้จริง







ทางด้านฝั่งซ้ายของชั้นสอง คือหอศิลป์แห่งชาติจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อตั้งโดย มูลนิธิส้าง พรศรี เมื่อ พ.ศ.2548 เพื่อการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมอยุธยา โดยจัดแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินระดับประเทศหลายท่าน นอกจากนี้ยังเปิดสอนศิลปะให้กับเยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่บรรยายและอำนวยความสะดวก






พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์รากฐานแห่งความศรัทธา

หลังจากเต็มอิ่มกับบรรยากาศของอยุธยาในวันวานแล้ว เราก็ต่อด้วย พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ณ วัดธรรมมาราม ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ประดิษฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัยและภาระกิจของพระอุบาลีมหาเถระ สมัยอยุธยา ที่เดินทางด้วยความวิริยะอุสาหะเพื่อไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกา จนได้ประดิษฐานเป็นนิกายสยามวงศ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน







พระอุบาลีมหาเถระ นับเป็นบุคคลสำคัญและมีคุณูประการยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา โดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงส่งคณะสงฆ์ นำโดยพระบาลีมหาเถระ เดินทางไปยังศรีลังกา เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งได้เสื่อมโทรมลงในขณะนั้น โดยได้ไปประกอบพิธีอุปสมบถพระและเณรจำนวนหลายพันคน ซึ่งภายในอาคารจัดแสดงได้แบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 อาจาริยบูชา พระอุบาลีมหาเถระ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระอุบาลีมหาเถระ ข้ามน้ำข้ามทะเล ในภารกิจกอบกู้พระพุทธศาสนา ภายในโซนนี้มีรูปเคารพพระอุบาลี อยู่บนแท่นกลางห้องหน้าธรรมมาสน์วัดธรรมาราม โซนที่ 2 ประดิษฐานลังกาวงศ์ในสยาม นำเสนอ Timeline การรับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย โซน 3 วิกฤติพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินลังกา นำเสนอภาพพุทธศาสนาในลังกาสาเหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมจนสูญสิ้นไปจากลังกา โซนที่ 4 ภารกิจกอบกู้พระพุทธศาสนา นำเสนอเรื่องความวิริยะอุสาหะ และความมุ่งมั่นของพระอุบาลีมหาเถระ ในรูปแบบ Multimedia Ling and Sound โซนที่ 5 ประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เป็นช่วงที่พระอุบาลีได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตลอด 3 ปีก่อนมรณภาพ โซน 6 สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ศรีลังกา เนื่องในโอกาสครบรอบ 260 ปี ในปี พ.ศ.2556 และภาพถ่ายนิทรรศการชุด “Two Nation One Family” โซนที่ 7 เที่ยวเมืองเก่าเข้าถึงธรรม นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ประดิษฐานในประเทศไทยสมัยอยุธยา





เย็นย่ำที่วัดไชยวัฒนาราม
    เกือบทั้งวันที่เราใช้เวลาไปกับความหลังแห่งเมืองเก่า ซึ่งบอกได้เลยว่ายิ่งได้ศึกษาก็ยิ่งหลงรักรักเมืองเก่าแห่งนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ยังเป็นเด็กมัธยมการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาพระพุทธศาสนา คงจะเป็นเรื่องหน้าเบื่อมากเลยทีเดียว แต่ไหนๆเรื่องราวความหลังของอยุธยาก็ทำให้ผมอินมากขนาดนี้แล้ว การได้นั่งชมพระอาทิตย์ตก ณ สถานที่สุดพิเศษของอยุธยาก็น่าจะเป็นความคิดที่ไม่เลว ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนหย่อนใจแบบนี้ วัดไชยวัฒนาราม คงเป็นสถานที่ที่ใช่ที่สุดสำหรับการนั่งมองพระอาทิตตกพร้อมกับการทิ้งสายตาไปยังความยิ่งใหญ่ตระการตาของพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา ที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไม่เหมือนวัดอื่นๆ สร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2173 เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชมารดา ในบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระราชมารดา และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติถึงชัยชนะเหนืออาณาจักรเขมร ส่วนของสถาปัตยกรรมได้นำศิลปะขอมมาผสมผสาน ด้วยการจำลองแบบจากนครวัด โดยมีลักษณะปรางค์แบบสมัยอยุธยาตอนต้น





สำหรับทริปนี้บอกตรงๆว่าผมความรู้สึกอิ่มเอมไปกับมนต์เสน่ห์แห่งความหลังมากเลยทีเดียว อาจไม่ใช่ทริปธรรมชาติที่มี น้ำตก ทะเล ภูเขา แต่กลับทำให้ผมรู้สึกสนุกได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซ้ำยังเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มากต่อเยาวชนไทย ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และช่วยอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง



INFORMATION

สถานที่
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทาง หลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข้อมูลเพิ่มเติม
ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร 035-246-0767
E-mail:tatyutya@tat.or.th
เว็บไซต์ www.tourismthailand.org/Where-to-Go/Ayutthaya หรือ www.facebook.com/Tat Ayutthaya


ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2