• 6 ธันวาคม 2018 at 14:55

COLON CANCER 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ให้ทันรักษาได้ 

     สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกๆ ท่าน เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีบุคคลในครอบครัวผู้เขียนต้องจากไปก่อนวันอันควรด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆและเป็นการจากลาอย่างค่อนข้างกะทันหันในความรู้สึกแม้ว่าจะพอทราบกำหนดล่วงหน้าก็ตาม จึงขออนุญาตนำมาเป็นหัวข้อบอกเล่ากันในฉบับนี้

     มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นหนึ่งในสามของชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด ในขณะที่มะเร็ง เป็นโรคในอันดับต้นๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยมะเร็งลำไส้ คือความผิดปกติของเซลส์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ มีการแบ่งตัวและเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นติ่งหรือเนื้องอกขึ้นภายในลำไส้ และติ่งหรือเนื้องอกนั้นอาจกลายเป็นเซลส์มะเร็ง ซึ่งสามารถลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อ หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายผ่านทางท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้

    อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเริ่มต้นสังเกตได้จากอาการที่ลำไส้ทำงานผิดปกติ ได้แก่น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแม้กินอาหารตามปกติ อยากอาหารน้อยลง ไม่รู้สึกหิว ท้องผูกและท้องเสียสลับกันบ่อยครั้ง หรือท้องผูกเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยพร้อมกับมีอาการปวดท้องช่วงล่าง อุจจาระมีลักษณะเล็กลง อาจมีเลือดปนออกมา ถ้าเลือดออกมากก็จะอ่อนเพลียหรือถึงขนาดช็อกได้ ถ้าก้อนมะเร็งอุดตันก็จะปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นระยะและถ่ายไม่ออก โดยแบ่งตำแหน่งที่เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 3 ตำแหน่ง คือ มะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา ผู้ป่วยบางรายจะปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยด้านขวา คลำพบก้อนเนื้อ ถ้ามีเลือดออกก็จะมีอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง มะเร็งบริเวณนี้มักไม่ทำให้มีอาการลำไส้อุดตัน 

     มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม ก้อนเนื้อมะเร็งจะอุดตันหรือขวางทางอุจจาระ ถ้าถ่ายออกก็มักจะมีเลือดปนออกมาด้วย พบผู้ป่วยมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา

    มะเร็งบริเวณลำไส้ตรง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดทวารหนักอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดและมักถ่ายไม่สุด อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต พบก้อนเนื้อที่ไม่ใช่ริดสีดวงออกมาจากทวารหนัก พบผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และพบว่าเป็นมะเร็งที่ทวารหนักร้อยละ1-2 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

    สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ที่อยู่ในความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี(พบถึงร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้) ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งอื่นๆ(การถ่ายทอดของยีนที่มีความปกติทางกรรมพันธุ์) ผู้ที่มีพฤติกรรมกินอาหารที่ในปัจจุบันมีข้อมูลว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหรืออาหารปนเปื้อน อาหารปิ้งย่างจนไหม้ดำ เนื้อแดง อาหารไขมันสูง อาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน(Crohn’s disease) หรือผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังจากความผิดปกติของลำไส้หรือระบบขับถ่ายอีกด้วย

   ในการตรวจวินิจฉัยนั้น เริ่มจากการซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว ตรวจร่างกายทั่วไป ตามด้วยการตรวจเฉพาะทาง ได้แก่ การใช้นิ้วตรวจทวารหนัก การตรวจหาเลือดในอุจจาระ(Fecal occult blood test: FOBT) การส่องกล้อง(ตรวจเฉพาะลำไส้ส่วนล่าง/ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด) การกลืนสีหรือแป้ง(Barium enema)เพื่อเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ การทำ ซีที แสกน(CT scan : Computerized Tomography) และการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจด้วยการใช้นิ้ว ส่องกล้อง หรือเอกซเรย์ โดยจะแบ่งมะเร็งออกเป็น 4 ระยะ คือ 

   ระยะที่ 1 ระยะเริ่มแรก โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อัตราการหายขาดร้อยละ 95 ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องนำลำไส้มาเปิดขับถ่ายที่หน้าท้องเนื่องจากตัดทวารหนักออกไป

   ระยะที่ 2 ระยะเริ่มลุกลาม มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ หรืออวัยวะข้างเคียง รักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสหายขาดร้อยละ 70 ถ้ารักษาด้วยรังสี(Radiation therapy หรือ Radiotherapy) และเคมีบำบัด(chemotherapy) ควบคู่ไปกับการผ่าตัด โอกาสหายขาดร้อยละ 80-90 ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุดและทำเคมีบำบัดป้องกันมะเร็งฟื้นตัวและลุกลาม มีโอกาสหายขาดร้อยละ 60

    ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก เป็นต้น รักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออกร่วมกับการทำเคมีบำบัด ถ้าทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสหายขาดเท่ากับระยะที่ 3 หรือร้อยละ 60 ในผู้ป่วยรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แม้จะไม่หายขาดแต่จะลดความทรมานจากมะเร็ง

    ปัจจุบัน วิธีรักษาโรคมะเร็งมีการพัฒนาไปมาก มีการนำวิธีใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)มาใช้ในระยะลุกลามอย่างได้ผลในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย แต่ยังเป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายสูงมากจึงยังไม่แพร่หลายทั่วไป ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุด คืออย่าเป็น และถ้าเป็นก็ต้องให้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงโอกาสหายขาดคือร้อยทั้งร้อยนั่นเอง

   ...ระยะเริ่มแรก โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อัตราการหายขาดร้อยละ 95...

Photo Cr.saludmovil.com

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2