• 4 มกราคม 2019 at 10:44

Plantar Fasciitis 

รองช้ำ ความปวดทรมานที่หายเองได้แต่ต้องใช้เวลา

...โดยจะปวดมากทันทีเมื่อมีการลงน้ำหนักครั้งแรกในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่การเดินเก้าแรกหลังตื่นนอน หรือการเดินเก้าแรกหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ เนื่องจากเอ็นฝ่าเท้าจะตึงทันทีหลังจากที่อยู่ในลักษณะหย่อนตามรูปเท้าที่ไม่ได้ลงน้ำหนักขณะนั่งหรือนอน... 

    สวัสดีปีใหม่ครับ แฟนๆ ออโตวิชั่นแอนด์ทราเวล ทุกๆ ท่าน ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีงานวิ่งการกุศลใกล้บ้านหลายงานเนื่องจากเป็นช่วงปลายปีอากาศดีเหมาะแก่การออกกำลังกายกลางแจ้ง และเป็นช่วงที่กล่าวกันว่าคือ RUNNIG BOOM ยุคที่ 2 และ 1 ในงานวิ่งดังกล่าวมีโอกาสได้พบกับคนรู้จักท่านหนึ่งที่ไม่ได้พบกันมานานพอสมควร หลังจากสนทนาสารทุกข์สุขดิบแล้ว ก็ขอปรึกษาถึงเรื่องอาการบาดเจ็บที่เจ้าตัวคิดว่าเป็นผลมาจากการร่วมงานวิ่งบ่อยครั้งของตน

   โรครองช้ำ(Plantar Fasciitis) คือโรคที่เกิดจากคือการบาดเจ็บของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ที่เรียกว่า Plantar fascia  ซึ่งอยู่บริเวณที่เส้นเอ็นยึดติดกับกระดูกส้นเท้า โดยเส้นเอ็นดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ยึดจากส้นเท้าไปยังปลายนิ้วเท้า ทำหน้าที่ในการดูดซับแรงกระแทกจากน้ำหนักตัวที่มีต่อพื้นขณะที่วิ่งหรือเดินก็ตาม ซึ่งเมื่อมีการใช้งานก็จะเกิดการดึงรั้งของเส้นเอ็นดังกล่าว และเมื่อใช้งานหนักเกินไป หรือใช้งานซ้ำๆ เป็นเวลานานเกินไป ก็อาจฉีกขาด อักเสบซ้ำๆ เกิดอาการรองช้ำตามมา

    อาการของโรครองช้ำ ได้แก่ การปวดตึงบริเวณส้นเท้า เมื่อมีการลงน้ำหนักที่ส้น โดยจะปวดมากทันทีเมื่อมีการลงน้ำหนักครั้งแรกในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่การเดินเก้าแรกหลังตื่นนอน หรือการเดินเก้าแรกหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ เนื่องจากเอ็นฝ่าเท้าจะตึงทันทีหลังจากที่อยู่ในลักษณะหย่อนตามรูปเท้าที่ไม่ได้ลงน้ำหนักขณะนั่งหรือนอน (start-up pain) โดยอาการปวดนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก ยืน เดิน หรือวิ่งต่อไป แต่จะยังคงมีอาการปวดอยู่ หรือปวดเมื่อแตะถูก ไม่ใช่ดีขึ้นจนหายปวดแต่อย่างใด และจะกลับมาปวดมากอีกครั้งเมื่อหยุดลงน้ำหนัก ยืนเดิน หรือวิ่ง แล้วกลับไปเริ่มต้นลงน้ำหนักใหม่แบบเรื้อรัง ซึ่งถ้าเส้นเอ็นอักเสบรุนแรง อาการปวดก็จะเป็นมากถึงขนาดปวดอยู่ตลอดเวลา มาก/น้อย ตามแต่การตึงเหยียดเมื่อต้องรับน้ำหนัก

     โดยอาการปวดตึงของโรครองช้ำนี้ จะเป็นมากถึงขนาดรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการปวดตลอดเวลาก็ตาม แต่เมื่อมีการทิ้งน้ำหนักตัวครั้งแรกเช่นก้าวแรกเมื่อตื่นนอน หรือก้าวแรกหลังจากนั่งนานๆ ก็สามารถทำให้ผู้ที่เป็นรองช้ำหลุดปากร้องโอดโอย เดินน้ำตาไหลขากะเผลกเรียกหาไม้เท้าได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย โรครองช้ำนี้ พบว่าเกิดได้กับทุกวัย และพบบ่อยในช่วงอายุ 40-60 ปี โดยผู้ที่มีรูปร่างอุ้งเท้าผิดปกติ เช่นอุ้งเท้าแบน(Flat feet),  อุ้งเท้าสูง(High arch),  ผู้ที่มีการลงน้ำหนักที่ผิดปกติ เช่น Overpronate เท้าบิดเข้าด้านใน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและมีอาชีพต้องเดินหรือยืนนานๆ ก็จะมีโอกาสเป็นรองช้ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

     ในการรักษา เมื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดมาจากโรครองช้ำ ก็ต้องลดการอักเสบของเส้นเอ็น Plantar fascia ด้วยการลดการใช้งานหรือลดการกระแทกที่ส้นเท้า ลดการรับน้ำหนัก ลดการตึงของฝ่าเท้า ประคบเย็นลดอาการปวด ทำกายภาพบำบัดแช่เท้าในน้ำอุ่นแล้วทำการยืดฝ่าเท้าเพื่อลดการตึงของเส้นเอ็น ถ้ามีอาการมากก็ต้องใช้ยาแก้อักเสบซึ่งมีทั้งยากินและแบบยาฉีดต้านการอักเสบเฉพาะที่ หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ รวมถึงการผ่าตัดถ้าจำเป็น(ยืดพังผืดฝ่าเท้า/ยืดเอ็นร้อยหวาย) บางรายอาจใช้กายภาพบำบัดหรืออุปกรณ์ช่วยบรรเทา เช่นการใช้ลูกบอลหรือลูกกลิ้งนวดฝ่าเท้า การใช้เฝือกอ่อนบังคับรูปเท้าเวลานอน การใช้ถุงเท้าหรือรองเท้าแบบที่มีส่วนช่วยรองรับน้ำหนักตัว เช่น ถุงเท้า Feetures ที่ออกแบบสำหรับคนที่เป็นรองช้ำโดยเฉพาะ หรือรองเท้าสุขภาพที่มีแผ่นรองเท้า(Insole) แบบพิเศษ หรือมี Arch of foot รองรับส่วนอุ้งเท้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปนั้น โรครองช้ำเป็นโรคที่ต้องใช้เวลานานในการรักษา โดยอาการมักจะเริ่มดีขึ้นหลัง 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มต้นลดการใช้งาน แต่จะให้หายขาดนั้น อาจต้องใช้เวลาถึง 10-12 เดือนเลยทีเดียว 

     ผู้ที่มีอาการของโรครองช้ำ จำเป็นที่จะต้องอดทนในการรักษาตนเอง งดกิจกรรมที่ชื่นชอบที่ต้องมีการกระแทกลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เช่นในรายต้นเรื่องนี้ สมควรจะต้องหยุดลงงานวิ่งการกุศลหรือวิ่งออกกำลังกายอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะรักษาหาย โดยให้หันไปออกกำลังกายรูปแบบอื่นแทนการวิ่ง แม้ว่าโรครองช้ำจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิตก็ตาม ทั้งนี้ หากยังดื้อดึงไม่หยุดพัก ก็จะต้องทนทุกข์ทรมานต่ออาการปวดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้อาการอักเสบเรื้อรังยุ่งยากต่อการรักษาจนถึงขนาดต้องเจ็บตัวจากมีดหมอผ่าตัดก็เป็นได้

Cr.Photo : pixabay

 

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2