• 12 มีนาคม 2019 at 15:46

LUMBAR STRAIN 

กล้ามเนื้อหลังอักเสบมาเยือนได้ทุกเวลาถ้านั่ง-นอน ไม่ระวัง 

“...แนวทางการรักษานั้น คือการแก้ไขที่ปลายเหตุและต้นเหตุควบคู่กันไป เพื่อมิให้กลับมาเกิดซ้ำอีกเมื่อรักษาหายแล้ว ได้แก่ การพัก ลดการเคลื่อนไหว ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง กินยาแก้ปวด การประคบเย็น...” 

      เมื่อวิกฤติฝุ่นควันถล่มเมืองหลวงเริ่มทุเลาลง พลันบรรยากาศงานวิ่งการกุศลต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลก็เริ่มกลับมาคึกคักกันใหม่  UNSEEN DOCTOR ในฉบับนี้ มีต้นเรื่องมาจากผู้วิ่งหนุ่มใหญ่นายหนึ่ง เกิดอาการปวดหลังช่วงเหนือบั้นเอวขึ้นมาอย่างกระทันหันในระหว่างที่กำลังตั้งอกตั้งใจเร่งฝีเท้าเพื่อทำสถิติใหม่ให้กับตนเอง ในงานวิ่งการกุศลงานใหญ่กลางกรุงเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โดยอาการปวดดังกล่าวเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ไม่มีอาการหรือสัญญาณอะไรเตือนล่วงหน้า และจะปวดรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย หรือเมื่อพยายามยืดหลังตรง แต่กลับกันจะรู้สึกปวดน้อยลงถ้าอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ในท่าที่งอหลังเล็กน้อย ซึ่งกรณีนี้ส่งผลให้เจ้าตัวต้องหยุดวิ่งและรีบไปพบแพทย์ทันที

      กล้ามเนื้อหลังอักเสบ : LUMBAR STRAIN เป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวเป็นต้นไป และพบได้บ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยที่ภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบนี้ ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากจากอาการปวดที่จะแสดงทันทีเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย จะลุกจะนั่งจะเดินจะวิ่ง ก็จะรู้สึกปวดขนาดหลุดปากโอดโอยออกมาได้ทั้งสิ้น

     สาเหตุที่กล้ามเนื้อหลังอักเสบมักมาจากการจัดท่าทางที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน เช่น นอนหลังงอจากที่นอนไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น นุ่มไปแข็งไป นั่งหลังงอ นั่งตัวเอียง รวมไปถึงเก้าอี้ทำงานที่ไม่เหมาะสมกับท่านั่ง ก้มๆ เงยๆ ผิดท่าผิดทาง ยกของหนักผิดวิธี การใส่รองเท้าส้นสูงเกินไป หรือสะพายกระเป๋าน้ำหนักมากๆ ทุกวัน นั่งขับรถบนเบาะนั่งที่ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับท่านั่ง เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เป็นชาวนาชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน หรือทำงานนั่งโต๊ะวันๆ แทบไม่ได้ออกแรงอะไร ก็มีโอกาสจะเป็นโรคนี้ได้ทั้งสิ้น โดยที่ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้กล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะบริเวณเอวซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญในการเดิน นั่ง และยกของ ทำหน้าที่พยุงหลังเราให้ตั้งตรงนั้น ต้องหดเกร็งเพื่อรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จนเกิดอาการอักเสบในที่สุดทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป และแบบเฉียบพลันเมื่อมีแรงอะไรมากระตุ้น (ในที่นี้ถูกกระตุ้นด้วยการพยุงร่างกายขณะวิ่ง) 

     แนวทางการรักษานั้น คือการแก้ไขที่ปลายเหตุและต้นเหตุควบคู่กันไป เพื่อมิให้กลับมาเกิดซ้ำอีกเมื่อรักษาหายแล้ว ได้แก่ การพัก ลดการเคลื่อนไหว ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง กินยาแก้ปวด การประคบเย็น ซึ่งอาการจะดีขึ้นภายใน 3 วัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องใช้ยาต้านอาการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ ส่วนการใช้ครีมนวดนั้น ต้องนวดด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำและอักเสบมากขึ้น โดยที่การพักการเคลื่อนไหวนั้น ไม่ควรเกินกว่า 2 สัปดาห์เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดพังผืด จะทำให้ปวดหลังเรื้อรังได้(การพักกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งเพราะปวด ร่างกายจะไปใช้กล้ามเนื้อกลุ่มอื่น ทำให้กล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งานอ่อนแอลง ไม่แข็งแรง)

     การแก้ไขที่ต้นเหตุ ได้แก่การปรับเปลี่ยนท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง อย่านั่ง ยืน หรือนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ อาจรวมถึงการเปลี่ยนเก้าอี้ทำงาน เปลี่ยนที่นอนด้วยถ้านั่นคือสาเหตุ (สังเกตว่าถ้าปวดหลังตอนตื่นนอน มักเกิดจากที่นอนนุ่มไป ถ้าปวดหลังตอนเย็นก็มักมาจากการนั่งตัวงอหรือนั่งตัวเอียงมาทั้งวัน) ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายเป็นประจำแต่ไม่หักโหมเพื่อสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ลดน้ำหนักตัวถ้าเป็นคนที่น้ำหนักตัวมากเพื่อลดภาระของกล้ามเนื้อหลังในการดึงรับน้ำหนักหน้าท้อง เป็นต้น หลังจากพบแพทย์ซักประวัติแล้วพบว่ากรณีนี้น่าจะมาจากท่านั่งทำงานที่ผิดสุขลักษณะ(หลังงอ) โดยเคยปวดหลังบ้างในตอนเย็นของวันทำงาน จึงให้เพียงยาแก้ปวดพร้อมให้คำแนะนำปรับท่านั่งให้ถูกต้อง ใช้หมอนใบเล็กๆ บังคับให้นั่งหลังตรงอยู่เสมอ หรือที่เรียกกันว่านั่งด้วยก้นไม่ใช่นั่งด้วยหลัง ซึ่งหลังจากผ่านวันแรกไปอาการก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแทบไม่มีอาการปวดเหลืออยู่เมื่อครบหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้จะยังต้องพักการออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างน้อยก็สามสัปดาห์.

Cr.Photo : freestockphotos

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2