• 1 เมษายน 2019 at 14:19

BFS 

Benign fasciculation syndrome 

กล้ามเนื้อกระตุกแค่รำคาญ แต่ต้องสังเกตภาวะแทรกซ้อน สวัสดีครับ แฟนๆ ออโตวิชั่นแอนด์ทราเวล ที่นับถือทุกๆ ท่าน สงกรานต์นี้วางแผนเดินทางไปไหนกันบ้างหรือเปล่า

วันนี้จะเป็นเรื่องของ”กล้ามเนื้อเต้นกระตุก”(Benignfasciculation syndrome)หรือเรียกอย่างย่อว่า “โรคบีเอฟเอส”(BFS)

อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกคือภาวะที่กล้ามเนื้อหดและคลายตัวอย่างรวดเร็ว(Fasciculation)จนสามารถรับรู้ได้ถึงการกระตุกดังกล่าว โดยสามารถเกิดได้กับกล้ามเนื้อทั่วร่างกายที่สามารถคุมการเคลื่อนไหวได้ (Voluntary muscle: กล้ามเนื้อลาย) เช่น กล้ามเนื้อเปลือกตา หนังตา กล้ามเนื้อตามแขน ขา ลำตัว เป็นต้น

ภาวะการเต้นกระตุกของกล้ามเนื้อนี้ เกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่ร่างกายเผชิญกับภาวะต่างๆ เช่น ตกอยู่ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความตื่นเต้น หรือได้รับสารที่มีผลต่อระบบประสาทในปริมาณมาก เช่น คาเฟอีนจากชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมที่มีโคลา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเกิดได้เมื่อร่างกายมีภาวะผิดปกติหรือจากโรคต่างๆ มีความผิดปกติของเกลือแร่ในระดับเซลล์ เช่น แมกนีเซียมต่ำ ฟอสเฟสต่ำ

โดยปกติทั่วไป กล้ามเนื้อเต้นกระตุก หรือโรคบีเอฟเอส มักส่งผลเพียงแค่สร้างความรำคาญเป็นครั้งคราว ไม่เป็นอันตรายอะไร และกรณีที่เป็นไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาอะไรเป็นพิเศษ โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับสารต่างๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการบีเอฟเอส การปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลายและไม่เครียด การแก้ไขภาวะเกลือแร่ แต่ทั้งนี้ บางรายอาจมีอาการที่รุนแรง กล้ามเนื้อเต้นกระตุกจนเกิดตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ สั่น อ่อนล้า หรือมีอาการเจ็บ ปวด หรือชา รู้สึกเหมือนถูกของแหลมทิ่มแทง หรือรู้สึกคล้ายมีแมลงมาไต่ในบริเวณที่เกิดอาการเต้นกระตุก ก็จะต้องทำการรักษาด้วยการใช้ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีปีน (Benzodiaze pine: ยาทางด้านจิตเวช) หรือยากลุ่มต้านเบต้า (Beta-blocker: ยาควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ) หรือยาแก้ปวดทั่วไปร่วมในการรักษาด้วย

อาการกล้ามเนื้อเต้นกระตุกส่วนใหญ่มักไม่ส่งผลอะไรต่อการดำเนินชีวิต โดยอาการกระตุกไม่ได้เกิดขึ้นจากเส้นประสาทไขสันหลัง จึงจัดว่าเป็นอาการกระตุกที่ไม่ร้ายแรง แต่ถ้าพบว่าเกิดอาการขึ้นหลายๆ จุดในร่างกาย และเป็นอยู่มากกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ก็สมควรที่จะต้องเข้าพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการค้นหาสิ่งผิดปกติอื่นๆ ตรวจเลือดดูเกลือแร่และการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อ(Electromyography) เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่รุนแรง อาจหมายถึงความผิดปกติในเส้นประสาทไขสันหลังโรคของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron)  หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นอันตรายมากกว่า

ส่วนอาการกระตุกของกล้ามเนื้อในขณะนอนหลับ(Hypnic jerk) อาจจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตมากกว่า ในรายที่มีอาการรุนแรงบ่อยครั้ง จะทำให้ตื่นนอนบ่อนครั้ง นอนหลับได้ไม่เพียงพอ และไม่กระฉับกระเฉงในช่วงกลางวัน โดยผู้ที่มีอาการจะรู้สึกเหมือนตกจากที่สูงจนสะดุ้งตื่น เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ จะถูกสมองสั่งให้คลายตัวพร้อมๆ กันซึ่งรวมทั้งกล้ามเนื้อต่างๆในชุดที่มีหน้าที่รับน้ำหนักตัวขณะยืน เดิน หรือนั่งด้วย เมื่อไม่มีการทำงานของกล้ามเนื้อเหล่านี้ สมองที่สับสนก็จะสั่งให้กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุกอย่างรวดเร็วจนสะดุ้งตื่น  ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าสาเหตุของอาการกระตุกขณะหลับ อาจมีผลมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวลต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนเข้านอน การพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน หรือผลจากโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ในการรักษาอาการกระตุกขณะนอนหลับนั้น แพทย์จะรักษาที่สาเหตุของโรคนั้น  แต่ถ้าไม่รู้สาเหตุแน่ชัด  หรือมีอาการกระตุกอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ  ก็จะต้องใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการกระตุกและเพื่อให้สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหม กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงลด/งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งนอกจากจะทำให้ลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อเต้นกระตุกแล้ว ร่างกายที่แข็งแรงก็ยังจะต้านทานโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ได้อีกด้วย.

 

Cr.Photo : healthjade.com

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2