• 6 ธันวาคม 2018 at 14:37

 หมอโกมุท

 HEAT ILLNESS

ภาวะโรคจากความร้อน

 “....ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องชดเชยน้ำที่สูญเสียไปในอากาศร้อนทั้งทางเหงื่อและจากการหายใจ โดยดื่มน้ำในลักษณะจิบเป็นระยะ เรื่อยๆ ตลอดเวลาเท่าที่จะนึกออกแม้จะไม่ได้มีความรู้สึกกระหายน้ำก็ตาม โดยทั่วไปก็อย่างน้อยประมาณ 1 ลิตรครึ่ง ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ จะเป็นน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ หรือถ้าเป็นน้ำเย็นก็จะยิ่งช่วยลดอุณหภูมิร่างกายเราได้ดีขึ้น....”

      สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกๆ ท่าน อากาศร้อนกับบ้านเรานั้น จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพียงแต่ว่าในยุคสมัยนี้ มันค่อยๆ ร้อนขึ้นตามอุณหภูมิของโลกที่ค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้นทุกปี ทุกปี พืชพรรณธัญญาหาร ปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง แต่เราๆ ท่านๆ อาจจะค่อยๆ ปรับตัวจนเคยชินแถมยังมีตัวช่วยมากมายทั้งเครื่องปรับอากาศ สเปรย์ลดอุณหภูมิอากาศ ฯลฯ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แม้จะมีความรู้สึกว่าอากาศหน้าร้อนยุคนี้ ร้อนมากกว่าสมัยตอนเป็นเด็กๆ ก็ตาม และเป็นที่แน่นอน ต้องทบทวนกันอีกในเรื่องของภาวะโรคจากความร้อน : Heat illness ซึ่งผู้ที่จะเสี่ยงกับอาการ ดังกล่าวก็คือท่านที่ต้องอยู่กลางแจ้งถูกแสงอาทิตย์โดยตรงเป็นเวลานานๆหรือท่านที่ทำงานอยู่ใกล้แหล่งความร้อนอย่างพวกเครื่องยนต์เครื่องจักร หรือเตาความร้อนต่างๆ เป็นเวลานานในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทน้อยระบายความร้อนได้ไม่ดี และที่ต้องขอเพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ ก็คือ ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายกลางแจ้งด้วยการวิ่งซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นกระแสไปทั่วนั่นเอง

      โรคจากความร้อนนิ้ ไม่ได้มีเพียง ฮีทสโตรก:Heat stroke หรือลมแดด ที่มีความรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิตเมื่อแก้ไขลดอุณหภูมิร่างกายไม่ทันเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ผื่นแดด : Heat rash, ตะคริวแดด : Heat cramp (กล้ามเนื้อหดเกร็งจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากทางเหงื่อ พบบ่อยบริเวณหน้าท้อง แขน และขา), หมดสติชั่วคราวจากแดด/ความร้อน : Heat syncope (อ่อนเพลีย วิงเวียน และ หมดสติชั่วคราว), หมดแรงเพราะแดด/ความร้อน : Heat exhaustion (เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย เป็นตะคริว มีไข้ต่ำๆ ซีด ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็วตื้น วิงเวียน สับสน รวมถึงบวมน้ำจากแดด/ความร้อน: Heat edema(บวมน้ำที่เท้า ขา มือ แขน หลอดเลือดขยายจากความร้อน น้ำ/ของเหลวในเลือดจึงซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามาในเนื้อเยื่อต่างๆรอบหลอดเลือด) และการชักเกร็งจากแดด/ความร้อน : Heat tetany(หายใจเร็วขึ้นจากการที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หรือ Hyperventilation ส่งผลให้ความเป็นกรด-ด่างของเลือดเปลี่ยนแปลงจนเกิดการชักเกร็งของกล้ามเนื้อได้)

       ทุกๆ ปี พบข่าวคนตายเพราะผลจากอากาศที่ร้อนจัดเสมอๆ ซึ่งก็มีทั้งคนวัยหนุ่มสาว คนแก่ตนชรา แต่จะพบมากกว่าในคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงหรือสูงวัย ในวันที่อากาศร้อนจัดๆ นั้น ท่านเคยสังเกตสีปัสสาวะตนเองบ้างไหมครับ ในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน หรือเคยสังเกตปลายนิ้วมือของตนเองบ้างหรือไม่ สีปัสสาวะที่เข้มขึ้น ตลอดจนปลายนิ้วมือที่ซูบเหี่ยวไปนั้น กำลังแสดงให้เห็นว่าท่านกำลังสูญเสียน้ำจนน่าจะไม่ดีแก่สุขภาพแล้วแม้ว่าในขณะนั้นจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรที่เสียเหงื่อมากๆ หรืออยู่กลางแจ้งก็ตาม(เหงื่อที่ออกมาก็คือวิธีการหนึ่งตามธรรมชาติในการระบายความร้อนออกจากร่างกายนั่นเอง) วิธีป้องกันอาการเจ็บป่วยเพราะอากาศที่ร้อนจัดนั้น นอกจากการปกปิดร่างกายให้มิดชิดจากแสงแดดการหลีกเลี่ยงกิจกรรมในสถานที่อุณหภูมิสูงๆ อากาศไม่ถ่ายเท แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องชดเชยน้ำที่สูญเสียไปในอากาศร้อนทั้งทางเหงื่อและจากการหายใจโดยดื่มน้ำในลักษณะจิบเป็นระยะ เรื่อยๆ ตลอดเวลาเท่าที่จะนึกออกแม้จะไม่ได้มีความรู้สึกกระหายน้ำก็ตาม โดยทั่วไปก็อย่างน้อยประมาณ 1 ลิตรครึ่ง ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ จะเป็นน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ หรือถ้าเป็นน้ำเย็นก็จะยิ่งช่วยลดอุณหภูมิร่างกายเราได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าเสียเหงื่อมากๆ ก็มีโอกาสสูญเสียเกลือแร่ออกไปกับเหงื่อ ก็พิจารณาเครื่องดื่มเกลือแร่เติมไปด้วยบ้างก็ได้ แต่อย่าให้เกินปริมาณบริโภคต่อวันที่เขาระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะกลับเป็นโทษต่อร่างกาย  

      เครื่องดื่มแก้ร้อนดับกระหายอื่นๆ พวกน้ำหวานน้ำอัดลมตามตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อนั้น ก็ช่วยได้เหมือนกันในผู้ที่เสียเหงื่อมากๆ เพราะอากาศร้อน โดยช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่น้ำตาลในเครื่องดื่มพวกนี้จะส่งผลต่อผู้ที่มีปัญหาเบาหวานหรือมีปัญหาน้ำหนักตัว และกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลจากเครื่องดื่ม ยังมีผลต่ออุณหภูมิของร่างกายและความรู้สึกกระหายน้ำซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะดื่มขวดที่ 2 ที่ 3 ตามมา สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นต่อสุขภาพร่างกายและยังเพิ่มน้ำตาลในเลือดเข้าไปอีก หากเป็นเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก็จะมีอาการตาแข็งใจสั่นระรัวเป็นของแถมในผู้ที่ตอบสนองไวต่อคาเฟอีน

     สรุปว่าอย่าได้ประมาทกับอากาศร้อนที่มันเพิ่มขึ้นทีละนิดทุกปี ทุกปีนะครับ ปีนี้ การทำกิจกรรมอะไรก็ตามกลางแจ้งหรือในสถานที่ที่อากาศร้อนอบอ้าว อาจจะไม่แค่เหงื่อแตกเหงื่อแตนเหมือนในปีที่ผ่านมา ถ้าหลีกเลี่ยงอากาศร้อนๆ ไม่ได้ ก็ต้องหมั่นจิบน้ำอย่าได้ขาดเพื่อชดเชยน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเพราะอากาศร้อนและช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ไม่ให้สูงขึ้นจนถึงขนาดต้องเสี่ยงกับภาวะโรคจากความร้อน

Photo Cr:www.equipmentworld.com

Photo Cr: www.emdocs.net

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2