• 6 ธันวาคม 2018 at 15:11

HYPOTHERMIA   

ภาวะตัวเย็นเกิน ฝนนี้ก็เป็นได้ไม่ต้องรอหน้าหนาว

  “...หลีกเลี่ยงการนวด สัมผัส หรือเคลื่อนไหวผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้น ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวก็สามารถให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่ปลอดแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน...”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกๆท่าน ช่วงฤดูฝนอย่างนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติความเขียวชอุ่มของแมกไม้ ชื่นชอบความเย็นฉ่ำของสายฝนและเกลียวคลื่นตามแก่งน้ำ จนชวนให้รู้สึกเป็นห่วงผู้ที่มัวแต่ชื่นชมกับความชุมฉ่ำจนอาจลืมหนาวไปเลย

      “ภาวะตัวเย็นเกิน” (Hypothermia) คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อน จนส่งผลต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และอาจทำให้ระบบหัวใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้  โดยปกติ อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์จะอยู่ที่ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายสูญเสียความร้อน (Body heat loss) อย่างต่อเนื่องจากอุณหภูมิภายนอกที่เย็นกว่าร่างกาย จนอุณหภูมิภายในของร่างกาย (Body หรือ core temperature) ลดลงจนต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียสแล้ว ก็จะเกิดอาการ “ภาวะตัวเย็นเกิน” ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแบ่งเป็น 3 ระดับขึ้นกับระดับอุณหภูมิของร่างกายที่ลดต่ำลง เริ่มตั้งแต่อาการแบบไม่รุนแรง เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูญเสียไปจนลดลงไปอยู่ที่ระดับ 32-35 องศาเซลเซียส ร่างกายจะพยายามป้องกันอวัยวะสำคัญเช่นสมอง หัวใจ ปอด ตับ ด้วยการลดเลือดที่จะไปยังร่างกายส่วนปลาย เช่น แขน ขา นิ้ว ให้มาที่บริเวณแกนกลางมากขึ้น ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย มีอาการหนาวสั่น หายใจถี่ อ่อนเพลีย มีอาการมึนงง สับสน มีปัญหาในการพูด ของเหลวที่มาถูกดึงมาบริเวณแกนกลางจะทำให้ร่างกายขับปัสสาวะมากขึ้น เสียสมดุลยของเกลือแร่

     เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงถึงประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส จะเกิดภาวะตัวเย็นเกินระดับอาการรุนแรงปานกลาง อาการคล้ายกับระดับไม่รุนแรงแต่หนักกว่าที่ถึงขนาดควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ลำบาก ร่างกายไม่สามารถสร้างความร้อนคืนมาได้ด้วยตัวเองอีก กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานผิดจังหวะ ความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้อยลง จนพูดไม่ชัดหรือพูดโต้ตอบไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว และถ้าอุณหภูมิร่างกายลดลงจนต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส ก็จะถึงขั้นอาการรุนแรงมาก ระบบต่างๆ ของร่างกายจะล้มเหลว มึนงงอย่างแรง เลอะเลือน หยุดสั่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งควบคุมและขยับร่างกายไม่ได้ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะหรือเต้นอ่อน หายใจเบาและช้าลง ระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีผิวหนังที่เย็นและซีด ความดันโลหิตต่ำ ปากเขียว ตัวเขียว รูม่านตาโตทั้ง 2 ข้าง เข้าภาวะโคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่าทันท่วงที

    ภาวะแทรกซ้อนในภาวะตัวเย็นเกิน ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจห้องล่างเต้นระรัว ภาวะเลือดข้น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดเป็นกรด โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ตับอ่อนอักเสบ ทางเดินอาหารเป็นแผลหรือเลือดออก หลอดลมหดเกร็ง ปอดอักเสบ ไตวาย เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกิดภาวะตัวเย็นเกิน หรือ Hypothermia นั้น มาจากการอยู่ในสภาวะที่หนาวเย็นโดยปราศจากการป้องกันที่เพียงพอ ร่างกายจึงสูญเสียความร้อน ด้วยการแผ่ (Radiation) ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาผ่านทางผิวหนังโดยศีรษะเป็นส่วนที่สูญเสียความร้อนจากร่างกายมากที่สุด สูญเสียความร้อนด้วยการนำ (Conduction) เป็นการถ่ายเทความร้อนผ่านการสัมผัสกับวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า เช่น นั่งหรือนอนบนพื้นเย็นๆ แช่ตัวอยู่ในน้ำเย็นๆ สูญเสียความร้อนด้วยการพา (Convection) กระบวนการนี้อุณหภูมิร่างกายจะลดลงไม่มากนักถ้าไม่ได้อยู่ในที่ที่ลมพัดแรงๆและสูญเสียความร้อนด้วยการระเหย (Evaporation) ของเหงื่อหรือความเปียกชื้นบนเสื้อผ้าในสภาพอากาศเย็น

    การรักษาเมื่อพบผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกิน ก็คือต้องนำส่งแพทย์พร้อมกับการทำให้ร่างกายแห้งและอบอุ่นขึ้น หลีกเลี่ยงการนวด สัมผัส หรือเคลื่อนไหวผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้น ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวก็สามารถให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่ปลอดแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน คอยสังเกตการหายใจและชีพจร และทำ CPR หากไม่มีชีพจร ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะใช้วิธีห่มผ้าและให้เครื่องดื่มอุ่นๆ ในการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย แต่ถ้าอาการรุนแรงมากก็ต้องสวนน้ำอุ่นทางกระเพาะอาหาร ทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ ช่องท้อง หรือโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือการให้น้ำเกลืออุ่นทางหลอดเลือดดำเพิ่มอุณหภูมิในทางเดินหายใจด้วยออกซิเจนที่มีความชื้นพอเหมาะผ่านทางหน้ากากช่วยหายใจ 

   ในฤดูหนาว ข่าวมีผู้เสียชีวิตเพราะ “หนาวตาย” ในบ้านเราเป็นเรื่องที่พบได้ในทุกปี บางปีก็พบหลายราย แต่เราอาจคาดไม่ถึงว่าสายฝนและสายน้ำเย็นตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเช่นน้ำตก หรือสายน้ำในถ้ำ ก็อาจทำให้”หนาวตาย” ได้เช่นกัน

PHOTO : Singin' in the Rain  American musical-romantic comedy film  

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2