• 10 กรกฎาคม 2019 at 17:22

PEMPHIGUS 

ตุ่มน้ำพุพองเรื้อรัง ไม่ใช่โรคติดต่อ รักษาหาย แต่ใช้เวลา

“...หากไม่มีสภาวะแทรกซ้อน แผลถลอกจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ก็จะเกิดแผลใหม่ขึ้นมาอีก บางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี แล้วเกิดอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป ทั้งนี้กรณีที่มีความรุนแรงของโรคมาก ผู้ป่วยก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อจนเสียชีวิตได้...” 

เพมฟิกัส(Pemphigus) : โรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรัง จะเป็นหัวข้อที่มานำเสนอกันใน Unseen Doctor ฉบับนี้ หลังจากที่มีข่าวนักแสดงชายท่านหนึ่งที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เกิดอาการเจ็บป่วยมีแผลพุพองทั่วร่างกายคล้ายกับอาการของโรคนี้ และถึงกับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างนานวันกันเลยทีเดียว

โรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรัง เพมฟิกัส เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย ได้แก่การสร้างแอนติบอดี้ มาทำลายการยึดกันของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการแยกหลุดลอกออกจากกัน เกิดเป็นตุ่มพองน้ำที่ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งแบบการแยกตัวของผิวหนังในชั้นลึก(Pemphigus vulgaris) และแบบการแยกตัวของผิวหนังในชั้นตื้น(Pemphigus foliaceus) 

เพมฟิกัส จัดเป็นโรคผิวหนังที่รุนแรง พบไม่บ่อยนัก โดยผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักอายุ 50-60 ปี อาการได้แก่ เกิดแผลเรื้อรังในปากในลักษณะแผลถลอกที่เหงือก เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม ซึ่งมีทั้งแผลถลอกเฉพาะบริเวณหรือแบบกระจายทั่วทั้งปาก และอาจพบแผลถลอกในบริเวณกล่องเสียง หรือบริเวณเยื่อบุอื่นๆ เช่นที่หลอดอาหาร เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุตา ช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะหรือทางเดินอุจจาระ พบรอยโรคที่ไหน บริเวณนั้นหากมีการสัมผัสแตะต้องก็จะเกิดอาการเจ็บปวดอย่างมากด้วย โดยอาการต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดก่อนพบอาการบนผิวหนังได้ 4-5 เดือน ซึ่งอาการบนผิวหนังได้แก่พบตุ่มน้ำหลังจากเกิดผื่นแดงบนผิวหนัง ในลักษณะตุ่มน้ำที่แตกง่าย(Flaccid bullae) ซึ่งจะแตกออกเป็นรอยถลอกหนังลอกและสะเก็ดน้ำเหลือง เกิดอาการปวดแสบที่แผล และแผลถลอกเหล่านี้จะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเมื่อหาย

โรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรัง เพมฟิกัส เป็นโรคเรื้อรัง จะมีอาการเป็นๆ หายๆ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันด้วยอาการปวดแสบและต้องคอยพะวงแผลพุพองทางผิวหนัง โดย Pemphigus vulgaris ที่มีการแยกตัวของผิวหนังในชั้นลึกนั้น ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะมีการแยกตัวในระดับล่างเป็นชนิดที่พบมาก ส่วน Pemphigus foliaceus ที่มีการแยกตัวของผิวหนังในชั้นตื้น มักเป็นที่หน้าอก หลัง และไหล่ จะมีอาการคันมากกว่าอาการปวด ถ้าเกิดในช่องปากหรือทางเดินอาหารก็จะมีปัญหาเวลาเคี้ยวหรือกลืนอาหารรสจัดด้วย ซึ่งการรักษาได้แก่การรักษาแผลถลอกและเร่งให้แผลหายให้เร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ และอาจให้ยากดภูมิคุ้มกันด้วยในรายที่มีความรุนแรงของโรคมาก หากไม่มีสภาวะแทรกซ้อน แผลถลอกจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ก็จะเกิดแผลใหม่ขึ้นมาอีก บางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี แล้วเกิดอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป ทั้งนี้กรณีที่มีความรุนแรงของโรคมาก ผู้ป่วยก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ อาการของโรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรังแบบการแยกตัวของผิวหนังในชั้นตื้น (Pemphigus foliaceus) มักมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรังแบบการแยกตัวของผิวหนังในชั้นลึก (Pemphigus vulgaris) โดยที่ระหว่างทำการรักษา ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดโดยเคร่งครัด รักษาความสะอาดของผิวหนังให้ดี และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของแผลถลอกตามผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ ที่ลอกตัวออกไป 

ด้านการป้องกันโรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรังนั้น เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้คือการทำงานที่บกพร่องของภูมิคุ้มกัน จึงเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็พบผู้ป่วยน้อยมากหรือมีรายงานอุบัติการณ์ 0.5-3.2 รายต่อประชากรแสนคน ในอายุเฉลี่ยที่ 50-60 ปี และไม่ใช่โรคติดต่อ ขณะที่เป็นโรคที่รักษาให้หายได้แม้อาจจะใช้เวลานานสักนิด จึงไม่ถึงขนาดต้องระแวงให้เสียสุขภาพจิตแต่อย่างใด และหากมีข้อสงสัยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.dst.or.th (เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย) 

ภาพประกอบ : images.wisegeek.com 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2