• 6 พฤศจิกายน 2019 at 14:48

Polycythemia 

ภาวะอันตรายที่ไม่เกี่ยวกับสุภาษิตโบราณ 

“ผู้ป่วยภาวะเลือดข้นอยู่ในระดับที่ยังไม่รุนแรงนั้น แพทย์จะให้ยาหรือเคมีที่ช่วยลดการทำงานสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก พร้อมกับยาประคับประคองอาการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะเลือดข้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือเคมีที่ใช้ในการรักษาด้วย” 

สวัสดีครับ ท่านสมาชิกและผู้อ่านที่เคารพรักยิ่งของ Autovision & Travel และ Unseen Doctor เดือนที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสดูละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่ง ตัวแสดงมีบทพูดยกสุภาษิต “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ”มาเปรียบเปรยปนประชดประชันตัวแสดงท่านอื่นตามเนื้อเรื่องซึ่งเชื่อว่าทุกท่านคงเข้าใจความหมายกันได้ง่ายๆ อยู่ แต่ถ้า”เลือดข้น” เฉยๆ ล่ะ คืออะไร อย่างไร

เลือดข้น (เลือดหนืด : Polycythemia) คือภาวะเซลล์เม็ดเลือดถูกผลิตขึ้นมาจากไขกระดูกในจำนวนที่มากผิดปกติ จนทำให้เกิดความหนืดขึ้นในกระแสเลือดส่งผลให้ยากต่อการไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรงแบบเรื้อรัง ตาพร่า ลูกตาแดง เห็นภาพซ้อน ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย เลือดกำเดาไหล หน้าแดง มือและเท้าแดง มีจุดแดงเป็นจ้ำๆ ทั่วตัว คันตามผิวหนังเมื่อถูกน้ำเย็นหรืออาบน้ำ มีอาการของโรคเกาต์ คือปวดและบวมตามข้อ ม้ามโต ในรายที่อาการหนัก ก็อาจเกิดลิ่มเลือดซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต หากลิ่มเลือดไปปิดกั้นการไหลเวียนในหลอดเลือดหัวใจ ปอด หรือหลอดเลือดสมอง 

ภาวะเลือดข้น จะแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากน้ำเลือด หรือพลาสมาลดลง (Apparent Polycythemia) มักมาจากการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย

ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากไขกระดูกผลิตเซลส์เม็ดเลือดแดงออกมามากเกินไป(Absolute Polycythemia) ซึ่งแบ่งเป็นเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2)มักเกิดกับผู้สูงอายุ และเลือดข้นจากสาเหตุร่างกายผลิตฮอร์โมนอีริโทโพติน(Erythropoietin)มากเกินไป  โดยยังมีสาเหตุจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)  ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(Sleep Apnoea) ซึ่งออกซิเจนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ จึงผลิตออร์โมนอีริโทโพอิตินมากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะเลือดข้นยังมีสาเหตุจากปัญหาที่เกี่ยวกับไต เช่น เนื้องอกในไต หรือการตีบของหลอดเลือดแดงในไต เป็นต้น

ในการวินิจฉัย นอกจากแพทย์จะดูอาการและประวัติของผู้ป่วยแล้ว ก็จะตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง หรือซีบีซี (Complete Blood Count:CBC) วัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ตรวจเสมียร์เลือด(Blood Smear) และตรวจระดับฮอร์โมนอีริโทโพอิติน(Erythropoietin Test) ซึ่งจะอาจจะพบฮอร์โมนอีริโทโพอิตินในเลือดมากผิดปกติในผู้ป่วยเลือดข้น

ส่วนการรักษา กรณีผู้ป่วยภาวะเลือดข้นอยู่ในระดับที่ยังไม่รุนแรงนั้น แพทย์จะให้ยาหรือเคมีที่ช่วยลดการทำงานสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก พร้อมกับยาประคับประคองอาการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะเลือดข้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือเคมีที่ใช้ในการรักษาด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกท้องเสีย เกิดผื่นคันตามตัว เป็นต้น แต่ถ้าภาวะเลือดข้นอยู่ในระดับที่รุนแรง ก็จะรักษาด้วยการถ่ายเลือด(Phlebotomy) โดยเจาะเส้นเลือดที่แขนเพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มากเกินไปออก และผู้ป่วยจะรู้สึกคล้ายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยหลังการเจาะเลือด ซึ่งในระยะแรกจะทำทุกสัปดาห์ ก่อนจะลดลงเหลือทุกๆ 6-12 สัปดาห์หรือมากกว่า และเมื่อผู้ป่วยมีระดับความเข้มข้นของเลือดลงลงจากเดิมไปถึงประมาณ 45% ก็จะปรับการรักษามาเป็นการให้ยา ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาจะได้ผลและผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เมื่อมาให้แพทย์ติดตามอาการตามนัด กินยาอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ในผู้ป่วยภาวะเลือดข้น ต้องไปพบแพทย์โดยด่วนเมื่อรู้สึกวิงเวียนศีรษะ เป็นลม หายใจหอบ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก ปวด บวมแดงหรือกดเจ็บบริเวณขา(ที่เกิดลิ่มเลือดแล้ว) ซึ่งเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก(Deep Vein Thrombosis:DVT) ที่ขา ก่อนที่จะเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในอวัยวะสำคัญอื่นๆ อันเป็นอันตรายถึงชีวิตครับ.

ภาพประกอบ : wikimedia Blood Donation

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2