• 6 พฤศจิกายน 2019 at 14:58

TICKS BITE... 

“เห็บกัด” ความประทับใจที่ไม่พึงอยากได้จากทริปป่าหน้าหนาว  

“...บางรายมีอาการแพ้และอักเสบเรื้อรัง ถึงขนาดต้องฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ 

หรือต้องตัดตุ่มที่อักเสบออก...” 

สวัสดีครับ ท่านสมาชิกและผู้อ่านที่เคารพรักยิ่งของ Autovision & Travel และ Unseen Doctor เข้าสู่บรรยากาศความหนาวเย็นของเหมันตฤดู ถนนทุกสายที่ปลายทางคือแหล่งท่องเที่ยวบนยอดดอยสูงทางเหนือและอีสานจึงหนาแน่นเป็นพิเศษในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์โดยเฉพาะเมื่อเป็น long weekend ยิ่งไปนอนค้างแรมรับลมหนาวกลางป่าเขา แม้ไม่สะดวกสบายหลับไม่สนิทเหมือนนอนอยู่บ้าน แต่นั่นคือความสุขที่มาส่งท้ายปีของแต่ละปีอย่างแท้จริง

UNSEEN DOCTOR ขอทบทวนกันอีกสักครั้งเพื่อเตรียมตัวเที่ยวแอบอิงธรรมชาติชมทะเลหมอกและน้ำค้างแข็งตามเถาไม้ยอดหญ้า โดยเฉพาะในรูปแบบแคมป์ปิ้งกางเต็นท์ใกล้ชิดแนบสนิทกับธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งในบางครั้งเมื่อกลับถึงบ้านในอาการเต็มอิ่มกับความสุขที่ได้รับในทริปนั้นๆ แล้ว ก็อาจมีความประทับใจอย่างอื่นเกิดขึ้นตามมาจนมากกว่าความสุขจากสายลมหนาวและทะเลหมอกก็เป็นได้เมื่อโดนเห็บป่ากัดในระหว่างทริป

เห็บ(Ticks) ที่พบในป่า เป็นสัตว์ปรสิตแปดขาแบบเดียวกับเห็บในสัตว์เลี้ยงที่มีวงจรชิวิตคล้ายกัน วางไข่แพร่พันธุ์ตามพื้นดิน ขยายพันธุ์ได้ดีในช่วงอากาศแห้งและเย็นเช่นช่วงฤดูหนาวของทุกปี อาศัยกินเลือดสัตว์ป่าและลงมาวางไข่ตามวงจรชีวิตที่พื้นดินหรือตามใบไม้ใบหญ้าในหรือใกล้บริเวณที่สัตว์ป่าเหล่านั้นสัญจรผ่านหรือใช้เป็นพื้นที่หากิน เมื่อนักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปในพื้นที่นั้น หรือเข้าไปพักแรมในพื้นที่นั้น เห็บซึ่งมีขนาดเล็กมากไม่โตไปกว่าปลายไม้ขีดก็อาจจะติดมากับเสื้อผ้าหรือร่างกายและด้วยขนาดที่ลงจนสังเกตุได้ยากก็จะสามารถไต่ไปจนถึงบริเวณที่อบอุ่น เช่นขาหนีบ รักแร้ แล้วก็เริ่มกัดในลักษณะฝังเขี้ยวและส่วนหัวลงไปใต้ผิวหนังเพื่อดูดเลือดโดยจะปล่อยสารบางอย่างออกมาไม่ให้เลือดแข็งตัวและมีอาการชาบริเวณที่ถูกกัด ผู้ถูกกัดจึงมักไม่รู้ตัวไปจนกระทั่งเห็บดูดเลือดจนอิ่มและทิ้งตัวออกไป

เมื่อเป็นเห็บไม่ใช่ยุงรำคาญตามบ้าน แผลเห็บกัดจึงมีลักษณะอักเสบเป็นตุ่มแดง คันจากสารที่เห็บปล่อยออกมาในขณะที่ดูดเลือด อาการคันแผลนี้จะอยู่ได้ถึงครึ่งปีกว่าจะหายขาด หรือถ้าใครกินยาทายารักษาแล้วยังทนไม่ไหว เกาจนถลอกเป็นแผลลุกลามก็เท่ากับงานงอกไปอีกโดยยังจะมีแผลเป็นติดไว้จางๆ อีกหลายปีอีกด้วย

กรณีที่เจ้าตัวรู้ตัวว่ากำลังถูกเห็บกัด และคิดว่าตนเองโชคดีที่เห็นก่อนเห็บจะกินเลือดจนอิ่ม ก็อาจจะเป็นคนโชคร้ายในความเป็นจริงถ้ารีบดึงตัวเห็บออก โดยในกรณีที่รีบร้อนใช้มือเปล่า(เล็บ)แกะออก เขี้ยวและส่วนหัวก็จะขาดฝังอยู่ใต้ผิวหนัง(โดยปกติฝังลึกกว่าเสี้ยนไม้ตำทั่วไป) เลือดที่กินเข้าไปผสมกับของเหลวในตัวเห็บเปื้อนลงไปในปากแผลที่มีเศษเขี้ยวของเห็บคาอยู่ ก็จะเป็นพิษจากโปรตีนบางชนิดที่เศษเขี้ยวเห็ด เกิดอาการคันมากและยาวนานกว่าแผลที่ไม่มีเศษเขี้ยวเห็บฝังอยู่หลายเท่านัก ผู้ที่แพ้จะมีอาการเหมือนเป็นลมพิษมีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ขณะที่บางรายยังติดเชื้อจากความสกปรกที่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหายใน 1-3 วัน

แต่บางรายก็จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ อย่างเช่น ไขข้ออักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น วีธีที่ควรทำเมื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกเห็บกัดก็คือ ใช้แหนบปลายเฉียงคีบช้อนส่วนของปากเห็บแล้วค่อยๆ ดึงออกมาอย่างระมัดระวังให้เห็บหลุดออกมาทั้งตัว ถ้ามีส่วนของเห็บขาดติดอยู่ก็ให้ใช้ของมีคมที่ฆ่าเชื้อแล้วอย่างเช่นปลายเข็มฉีดยาสะกิดออกมา อย่าได้วางใจเพราะมีหลายรายที่อักเสบเรื้อรังถึงขนาดต้องฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือต้องตัดตุ่มที่อักเสบออกเพื่อเป็นการกำจัดเศษของเขี้ยวเห็บที่ติดค้างอยู่ออกไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งการรักษาแผลเห็บกัดนั้น หากถึงขนาดอักเสบเป็นตุ่มนูนแดงคันเรื้อรังก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเป็นดีที่สุด

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2