• 6 มกราคม 2020 at 12:42

ANAPHYLAXIS 

  “แพ้” เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม รักษาไม่ทันอาจถึงตาย 

...ภาวะแทรกซ้อนของแอแนฟิแล็กซิสที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ได้แก่ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ขาดอากาศหายใจ สมองได้รับความเสียหาย ไตวาย..

          สวัสดีปีใหม่ครับ สมาชิก AUTOVISION & TRAVEL และแฟน ๆ UNSEEN DOCTOR ทุกๆ ท่าน ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางไปพักผ่อนปลายปี ณ ชายหาดแห่งหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนสนิทสมัยเรียนหนังสือมาด้วยกัน อันเป็นการไปเที่ยวเทศกาลส่งท้ายปีเก่าล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดคับคั่งของทั้งการจราจรและจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ปรากฏว่าทริปต้องยกเลิกกระทันหันในกลางคันเพราะอาการเจ็บป่วยของเพื่อนคนหนึ่ง ที่อยู่ ๆ ก็บ่นหายใจไม่ออก ชีพจรเต้นถี่และเบาอย่างน่ากลัว หลังจากจบอาหารเย็นซีฟู๊ดจากวัตถุดิบสด ๆ หลายหลายเมนูที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้อง

           จากอาการที่ไม่ค่อยจะสู้ดี จึงต้องรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากที่พัก และบังเอิญว่าเป็นสถานพยาบาลที่มีความพร้อมเป็นอย่างดีทั้งในเรื่องของบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจได้วินิจฉัยว่าเป็นอาการของปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis และเป็นภาวะฉุกเฉินที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

           Anaphylaxis(แอแนฟิแล็กซิส) คือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน โดยเกิดผื่นลมพิษตามผิวหนัง คัน พร้อมกับอาการหน้ามืด เวียนศีรษะเหมือนคนจะเป็นลม ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ อยากอาเจียน ไอ จาม มีน้ำมูกไหล ความดันโลหิตลดต่ำลง แน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจลำบาก ลิ้นบวม ปากและคอบวม รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ พูดไม่ชัด รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามมือ เท้า ปาก และที่หนังศีรษะ โดยผู้มีอาการดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานไวต่อสารกระตุ้นก่อภูมิแพ้บางอย่างมากกว่าคนปกติ โดยที่ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจแพ้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่นผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว อาจจะอยู่ในอาหาร หรือยาบางชนิด สารเคมี เกสรดอกไม้ พิษของแมลง หรือสัตว์มีพิษอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้ว Anaphylaxis จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ 

          ในการรักษา แพทย์จะซักประวัติและตรวจอาการผิดปกติ สอบถามรายละเอียดก่อนเกิดอาการแพ้การสัมผัสสารหรือกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้รวมถึงสอบถามประวัติการแพ้ยาหรือแพ้สารต่างๆ เพื่อประเมินสาเหตุของอาการแพ้ เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นปฏิกิริยาการแพ้แบบแอแนฟิแล็กซิส ก็จะรักษาด้วยการฉีดยาอิพิเนฟริน (ฮอร์โมนอะดรีนาลีนและสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ และปกติร่างกายจะหลั่งมาจากต่อมหมวกไต)เข้าที่กล้ามเนื้อ(ต้นขา) และประเมินอาการผู้ป่วยตามหลัก ABC คือ A ประเมินทางเดินหายใจ (Airway) ตรวจสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ ถ้าจำเป็นอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ B ประเมินการหายใจ (Breathing) ตรวจดูความผิดปกติของการหายใจ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับออกซิเจนเพิ่มผ่านทางหน้ากากหรือเครื่องช่วยหายใจ และ C ประเมินระบบไหลเวียนโลหิต (Circulation) รักษาระบบการไหลเวียนเลือดและความดันเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ อาจมีการให้สารน้ำหรือฉีดยาทางเส้นเลือด ซึ่งหมายถึงยาสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วย

           เวลาที่จะต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล จะขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองของผู้ป่วย ในรายที่กล่าวมานี้ อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วและแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปติดตามอาการต่อที่โรงพยาบาลแถวบ้านได้หลังจากนอนรักษาตัวแค่คืนเดียว โดยภาวะแทรกซ้อนของแอแนฟิแล็กซิสที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ขาดอากาศหายใจ สมองได้รับความเสียหาย ไตวาย โดยที่หากทราบว่าตนมีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด ก็ต้องหลีกเลี่ยงสารนั้นๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงกว่าครั้งแรก อ่านฉลากหรือสอบถามส่วนผสมของอาหารให้ละเอียดว่ามีส่วนประกอบจากอาหารที่ตนแพ้หรือไม่ แต่งตัวให้มิดชิดรัดกุม ไม่เดินเท้าเปล่าบนสนามหญ้า ป้องกันผึ้ง แมลง หรือสัตว์มีพิษกัดต่อย มียาอิพิเนฟรินแบบฉีดฉุกเฉินหรือยารูปแบบอื่นติดตัวไว้เสมอ และควรมีป้ายหรือสมุดพกแจ้งว่าตนแพ้สารก่อภูมิแพ้หรือแพ้ยาอะไรเพื่อสื่อสารกับผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือในสภาวะที่ตนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

           ทั้งนี้ ในกรณีของอุทาหรณ์ที่ยกมา เป็นการแพ้อาหารทะเล(กุ้ง) ซึ่งแนวทางป้องกันการเกิดซ้ำ คือการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของกุ้ง และห้ามปฏิบัติตามความเชื่อจากหลายที่มา ที่แนะนำให้กินอาหารที่แพ้วันละนิดวันละหน่อย จะทำให้หายจากการแพ้อาหารนั้นๆ ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการแพ้ครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก และทำให้เสียชีวิตได้

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2