• 18 พฤษภาคม 2020 at 11:52

CHRONIC STRESS 

“โรคเครียด...”

....ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ทำงานผิดปกติยังทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง อ่อนแอ เกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นหวัดง่าย เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้นไปอีก...

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน แฟนๆ ออโตวิชั่นแอนด์ทราเวล ทุกๆ ท่าน ชั่วโมงนี้คงต้องยอมรับว่ามีน้อยคนที่จะไม่รู้สึกเครียดกับสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน  และดูเหมือนว่าจะเป็นผลกระทบที่ยาวนานต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยๆ ก็ถึงสิ้นปีเลยทีเดียว

ความเครียด (Chronic stress) เป็นกลไกธรรมชาติ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมในการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น(มักในทางลบ) โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ซึ่งประเภทหรือลักษณะของสิ่งเร้านี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน กล่าวคือเหตุหรือสิ่งเร้าอย่างเดียวกัน คนหนึ่งอาจไม่รู้สึกอะไร ขณะที่บางคนเครียดมาก บางคนเครียดน้อยอะไรทำนองนี้ โดยเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าจนเกิดความเครียดนั้น ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนในกลุ่ม Stress hormones หรือ “ฮอร์โมนความเครียด” ได้แก่ ฮอร์โมนแอดรีนาลิน(Adrenalin) และฮอร์โมนคอร์ติซอล(Cortisal) มีผลให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อต่างๆ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจตื้นๆ แต่ถี่เร็ว ซึ่งก็เพื่อให้เกิดการนำออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปทั่วร่างกายอย่างเพียงพอ ม่านตาขยาย เส้นเลือดที่อวัยวะย่อยอาหารหดตัว มีการเผาผลาญมากขึ้นทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น และมีเหงื่อออกมาก

ด้วยการที่ความเครียดคือกลไกธรรมชาติเพื่อเตรียมร่างกายรับมือกับสถานการณ์(ร้าย) ความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ จึงมักไม่เกิดโทษต่อร่างกาย แต่ตรงกันข้าม ความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ และเกิดขึ้นบ่อยๆ ถี่ๆ นั้น ส่งผลทางลบต่อร่างกายอย่างมากมายหลายประการด้วยกัน เริ่มกันตั้งแต่ การที่กล้ามเนื้อเกร็งตัวบ่อยๆ เป็นที่มาของการอักเสบ การปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังของกล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อหลัง โดยที่อาการปวดเรื้อรังนี้จะสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่เจ้าตัวแทบทุกราย เพราะวันๆ หนึ่งท่านเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มีพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักหรือผิดท่าผิดทางอะไรให้ชวนคิดว่าเป็นต้นเหตุของการเจ็บปวดนั้นเลย 

ผลพวงต่อมาของผู้ที่มีอาการเครียดบ่อยๆ ก็คือ อาการความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ โดยหัวใจทำงานหนักมากขึ้น เลือดหนืดข้นมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือในกรณีผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความเครียดก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นอย่างที่มักเห็นบ่อยๆ ในละครโทรทัศน์ 

 

ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยังส่งผลทางด้านจิตใจอีกด้วย โดยจะรู้สึกหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน รู้สึกเบื่ออาหาร หรือกินอาหารจุกจิกหรือกินจุผิดปกติ เมื่อเป็นดังนี้ ถ้าน้ำหนักตัวไม่ลดลงก็จะกลับเป็นตรงกันข้าม คืออ้วนขึ้น ถ้ากินหวานกินเค็มมากไปปัญหาเรื่องเบาหวานและโรคไตก็จะตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของเบาหวานหรือโรคไตอยู่ก่อนแล้ว เกิดความผิดปกติของระบบขับถ่าย อาจเป็นได้ทั้งท้องผูกหรือท้องเสีย เหนื่อยง่าย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ เกิดปัญหากับสมรรถนะทางเพศทั้งชายและหญิง ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ทำงานผิดปกติยังทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง อ่อนแอ เกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นหวัดง่าย เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้นไปอีก

อาการที่จะแสดงออกให้ทราบว่ากำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อความเครียดหรือไม่นั้น ก็ดูง่ายๆ เวลารับทราบข่าวแล้วรู้สึกหัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ ปวดหนักปวดเบา คลื่นไส้ มึนงง เป็นบ่อยๆ นั่นไม่ดีแล้ว ถ้าถึงขนาดเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ วิตกกังวลซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะเริ่มไม่มีความสุขกับชีวิต นั่นคืออาการของโรคเครียด ก็สมควรที่จะต้องเข้าปรึกษาแพทย์ได้แล้ว

เมื่อรู้ตัวว่าเสี่ยงกับการเป็นโรคเครียด ก็ต้องหาวิธีแก้ไข เริ่มต้นเลยก็ต้องเข้าไปดูที่ต้นเหตุ ในที่นี้ก็คือสถานการณ์โรคร้าย ก็ขอให้เชื่อมั่นในข่าวสารจากทางการมากกว่าข่าวส่งต่อในเฟซบุ้ค หรือในไลน์ รู้จักสืบค้นหาความจริงก่อนที่จะเชื่อ พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา พยายามมองโลกในแง่บวก หางานอดิเรกที่ช่วยให้ผ่อนคลายทำบ้าง หรือลองสนใจเรื่องการออกกำลังกายบ้าง ติดตามข่าวสารความช่วยเหลือจากทางการกรณีได้รับผลกระทบในเรื่องการงานหรือรายได้

ทั้งนี้ สำคัญที่สุดคือใจของเรา ต้องคิดอะไรสบายๆ คิดอะไรก็ให้เป็นบวก ความเครียดอะไรที่มาจากสาเหตุที่เกินความสามารถของเราจะไปแก้ไขได้ ก็จะต้องปรับตัว ปล่อยใจ ปล่อยวางให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่าไปคิดโกรธหรือโทษอะไรใคร หรือแม้แต่โทษตัวเราเอง โรคเครียดจะได้ไม่มีโอกาสมาเยือนเรา

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2