• 2 กันยายน 2020 at 12:20

 

ตามรอยไหว้พระจังหวัดสมุทรสงคราม 

รับพลังบวกกับดร.อาจารย์คฑา ชินบัญชร

เพราะการทำทานคือ การให้ที่ยิ่งใหญ่และได้บุญอย่างใหญ่หลวง โดยสามารถทำได้ตลอดเวลาและหากยิ่งไม่เฉพาะเจาะจงในการปฎิบัติ ก็ยิ่งเกิดสิริมงคลแก่ผู้ให้อย่างเหลือคณานับ จึงกลายเป็นแนวทางโน้มนำสำหรับพุทธศาสนิกชน ในช่วงการฝ่าฟันภัยร้ายอย่างโควิด 19 ไปด้วยกันเป็นอย่างมาก นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการร่วมบุญกับ ดร.อาจารย์คฑา ชินบัญชร สู่วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงครามในครั้งนี้

       วัดบางกะพ้อมเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของคหบดีจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลบหนีจากภัยสงครามมาตั้งรกรากใหม่ยังที่นี่ โดยยึดอาชีพสานกระบุง ตะกร้า เสื่อ และกะพ้อมใส่ข้าว นำออกขายเพื่อยังชีพ

       แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่า “บังกับพ้อม” ก่อนจะเพี้ยนเสียงจากการเรียกขานให้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นวัด “บางกะพ้อม” จวบจนปัจจุบัน โดยตั้งอยู่ใน ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา ห่างจากตัวเมืองออกมาเพียง 5 กิโลเมตร

       ไม่ใช่เพียงเป็นวัดเก่าแก่ แต่วัดบางกะพ้อมยังมีความกว้างขวาง และประกอบด้วยศาสนสถานอันหลากหลาย โดยจุดแรกเราเริ่มต้นถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ประจำวัด ตรงบริเวณศาลาด้านหน้า ก่อนจะไปไหว้รูปหล่อหลวงพ่อคง อดีตเจ้าอาวาสที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัด รวมทั้งเป็นเกจิดังทางด้านอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งประดิษฐานในศาลาเดียวกัน ที่สำคัญ เราไม่พลาดจะสักการะหัวใจหลวงพ่อคงจำลอง เพื่ออธิษฐานเอาฤกษ์เอาชัยอีกด้วย

ถัดไปไม่ไกลจากศาลาด้านหน้านั้น จะสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ นั่นคือวิหารวัดบางกะพ้อมอันเลื่องชื่อ และมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

       มีความโดดเด่นด้วยการตกแต่งโครงสร้างด้วยการขึ้นปูนปั้นแล้วตกแต่งด้วยกระเบื้องเบญจรงค์ อันเป็นศิลปะอันขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมในสมัยรัชการที่ 3 ไม่แตกต่างจากที่พบเห็นในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดอรุณราชวราราม

อีกหนึ่งจุดเด่นของวิหารแห่งนี้คือ ทางเข้าทรงกลมอันตรงตามความเชื่อของคนจีนที่ว่า วงกลมนั้นคือสวรรค์ เมื่อเดินผ่านเข้ามาสู่ภายในจึงไม่ต่างกับการมาถึงสรวงสวรรค์แล้ว โดยตรงกลางจะประดิษฐานรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่เรียงซ้อนกัน 4 ชั้น ไล่เรียงไปจากพระพุทธบาทของพระกกุสันโธที่เกิดจากไก่ พระโกนาคมโนเกิดจากนาค พระกัสสโปเกิดจากเต่า และพระโคตโมเกิดจากโค ส่วนบนฝาผนังจะเป็นศิลปะปูนปั้นเกี่ยวกับพระพุทธประวัติโดยรอบ ซึ่งแตกต่างจากวัดโดยทั่วไปที่จะเป็นงานจิตรกรรม

จากวิหารวัดบางกะพ้อม คณะของเราเดินไปอีกไม่ไกลก็พบวิหารหลวงพ่อคงองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้างถึง 11 เมตร ทำเราอดตื่นตาตื่นใจและชื่นชมกับแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไม่ได้ โดยด้านในวิหารจะมีพระประจำวันเกิดให้เข้าไปกราบไหว้สักการะ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับการนั่งสมาธิและสวดมนต์อย่างกว้างขวาง เรียกง่ายๆ ว่า เดินทางมาไหว้พระเพียงวัดเดียว ก็รับพลังบวกกลับมาอย่างเต็มเปี่ยม พร้อมความอิ่มอกเอ็มใจและซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา

พวกเราออกจากวัดบางกะพ้อมมาก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ คงถึงเวลาต้องเติมพลังมื้อกลางวันให้กับท้องบ้างแล้วล่ะ และ “ร้านชาวเล” ก็กลายเป็นคำตอบแรกของเราแทบจะในทันที ด้วยเหตุผลของระยะทางที่ใกล้และใช้เวลาน้อยที่สุด ประกอบกับจุดหมายต่อไปในวันนี้ยังไม่จบจากการได้พบเห็นงานศิลปะปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเบญจรงค์จากวิหารวัดบางกะพ้อมนั่นแหละ ทำให้เราเสิร์ชพบ “ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์” แหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบดั้งเดิมอันขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม

ใช้เวลาไม่นานนักเราก็มาถึงร้านชาวเล ตั้งอยู่ริมคลองผีหลอกหรืออเมซอนเมืองไทย ด้วยบรรยากาศความสวยงามแห่งสายธาร ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และแมกไม้ริมน้ำอันเขียวขจี

       ก่อนอาหารทะเลอันเลื่องชื่อสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอดแสนอร่อย ก็ลำเลียงมาบนโต๊ะอย่างพร้อมเพรียง ด้วยวัตถุดิบอันมีคุณภาพ ผสานด้วยฝีมือการประกอบอาหารอันจัดจ้านของแม่ครัว ก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโต๊ะมลายหายไปอย่างรวดเร็ว

จะมีสักกี่คนนึกบ้างว่า สมุทรสงคราม จะเป็นหมุดหมายแห่งการเยี่ยมเยือนในวันว่างสั้นๆ ที่เพียบพร้อมด้วยสถานที่ทำบุญรับพลังบวกมากมายไม่แพ้จังหวัดอื่นรายรอบเมืองหลวง เพียบพร้อมด้วยผลผลิตจากชุมชนอันมีความโดดเด่นไม่ซ้ำแบบ รวมถึงอาหารการกินที่อุมดมสมบูรณ์ สามารถรับประทานได้ไม่เบื่อในแต่ละมื้อของวัน จนเราเองอยากจะกลับมาขอซ้ำเมนูเดิมอีกสักรอบสองรอบด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ยังรับประทานไม่ครบทุกรายการอาหารในมือเลย

หลังจากอิ่มบุญและอิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเติมคำตอบสำหรับความอยากรู้อยากเห็นเครื่องเบญจรงค์ต้นตำรับ ณ ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ โดยได้พบศิลปินระดับครู “วิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ” ครูช่างศิลปะหัตถกรรม 2555 ผู้บุกเบิกและก่อตั้งแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ตามแบบแผนโบราณ จนได้ผลงานอันประณีตด้วยลวดลายอันวิจิตร พร้อมความคงทนและสีสันอันสวยสดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจึงเป็นที่ต้องการจากท้องตลาด โดยมีราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน

ปัจจุบันครูวิรัตน์ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตผลงาน ควบคุมการผสมสีอย่างมีคุณภาพ เพื่อผ่านกระบวนการเผาออกมาอย่างสดสวยและยืนนาน โดยมีเหล่าลูกศิษย์ลูกหาเป็นผู้เขียนลายและลงสีอย่างวิจิตรกว่า 50 ชีวิต

และอุทิศพื้นที่ในบ้านหลังใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้เครื่องเบญจรงค์ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป แม้ปัจจุบันจะมีอายุล่วงเลยไปกว่า 90 ปีแล้วก็ตาม

 

พวกเราออกมาจากปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ ด้วยพลังอีกแบบ ไม่ใช่พลังบวกจากการทำบุญ ไม่ใช่พลังอันมหาศาลจากการรับประทาน แต่เป็นพลังแห่งความมุ่งมั่น ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้ากับสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถพบได้ครบในจังหวัดสมุทรสงครามแห่งนี้

โดยก่อนจะแยกกันเดินทางกลับ พวกเราแวะเติมพลังและซึมซับบรรยากาศอัมพวาทิ้งท้ายที่ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา (The Buffalo Amphawa) ด้วยเครื่องดื่มและเบเกอรีอันเลิศรส

 

ทริป “ตามรอยไหว้พระจังหวัดสมุทรสงคราม รับพลังบวกกับดร.อาจารย์คฑา ชินบัญชร” จบลงด้วยรอยยิ้ม ความอิ่มใจ ความประทับใจ และที่เหนือไปกว่านั้นคือ การได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต ที่ใช้พลังบวกในการขับเคลื่อนนั่นเอง!

 

คอลัมน์ On The Road 

Story: Sirote / Photo: Nirada

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2