• 12 ตุลาคม 2020 at 12:00

Story/Photo:PIYAWAT CHITMA

 

SUHKOTAI PLUS

  ดินแดน“รุ่งอรุณแห่งความสุข”เปิดใจ

  “เที่ยวไทยรับพลังบวก”

บางครั้งชีวิตไม่ได้หดหู่หรือหมดแรงจนเกินกว่าจะก้าวเดิน แรงพลังไม่ได้เกิดจากเก็บตัวหรือซ่อนในห้องเท่านั้น ทว่าการเดินทางท่องเที่ยวในบางครั้งก็เป็นการสร้างพลังบวกให้กับตัวเองได้เช่นกัน อย่างทริปนี้ เมืองสุโขทัยหรือดินที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ประวัติศาสตร์ ใครที่เดินทางมาถึงซึมซับความช้าเนิบและความสุขกลับไปด้วยอย่างแน่นอน

บนถนนเราเชื่อมโยงกันด้านความเจริญส่งผลต่อการเดินทางรวดเร็ว เมืองสุโขทัยยังคงเรียบง่ายในมุมมองของผม หลายปีผ่านมาไปภาพชาวบ้านบางชุมชนยังคงเป็นเช่นเดิม เราสัมผัสได้ถึงความสุขของชาวบ้านเสมอ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทริปนี้ของเราเป็นการเดินทางท่องเที่ยวไทยรับพลังบวกเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆเราเริ่มต้นความสุขท่ามกลางความชุ่มฉ่ำ ละอองฝนโปรยปรายตั้งแต่เราก้าวเข้าเขตมรดกโลก 

ฤดูฝนไม่ได้ทำให้ทุกอย่างแย่วันนี้เรามาถึงยังได้เห็นความเขียวของใบไม้และยอดหญ้าใบอ่อนของต้นจามจุรีย์เตรียมชูช่อพร้อมเติบโตไปอีกวัน อดีตล่วงผ่านเล่ากลับไปจุดเริ่มต้นอาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 1780 พ่อขุนศรีอินทรา- ทิตย์ ทรงพระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว ทรงสถาปนาสุโขทัยขึ้นมา สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชนชาติไทย โดยขยายเขตการปกครองออกไปอย่างกว้างขวาง สุโขทัยเป็นราชอาณาจักรของชาติไทย อยู่ประมาณ 200 ปี จึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1981 มาถึงวันนี้ร่องรอยความรุ่งเรืองยังบ่งบอกความยิ่งใหญ่ให้เราได้รับรู้ผ่านเมืองเก่าที่ได้รับการดูแลจนกลายเป็นมรดกโลก 

วัดมหาธาตุคือจุดเริ่มต้นของนักท่องเที่ยวทั่วไป เราจะเห็นถึงความเข้มขลังผ่านเจดีย์หรือซากหินปูนที่ถูกทำลายลงแต่ยังคงไว้ซึ่งความศรัทธา สถานที่ตั้งวัดมหาธาตุตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจ  พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1  แห่ง ตระพัง 4 แห่ง 

 

ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฏฐารศ" ผมเดินชมอยู่นานรู้สึกได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตอย่างมากศิลปะถูกสร้างผ่านลวดลายต่างๆยังคงหลงเหลือให้เห็น

ในอุทยานประวัติศาสตร์ฯปัจจุบันไม่อนุญาตให้รถเข้าโดยเด็ดขาดเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานต่างๆรวมถึงมลพิษจากท่อไอเสีย ใครอยากเข้าชมก็ต้องเช่ารถของเจ้าหน้าที่มีทั้งจักรยานและรถพลังงานไฟฟ้าราคาไม่แพง อากาศไม่ถูกทำลายถนนไม่เสียหาย มีเวลาเดินชมได้นาน ถ้าปั่นจักรยานรอบพื้นที่ราว 5 กม.ไม่เหนื่อยมากเท่ากับเรามีความสุข

อากาศเป็นใจไม่ร้อนมากเม็ดฝนเบาบางเป็นละออง เราออกไปขอพร “รับพลังบวกธาตุดิน” กันยังวัดศรีชุม ดร.คฑา ชินบัญชร นำขอพรในครั้งนี้ ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐาน พระอจนะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30  เมตร ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ช่างสมัยก่อนมีความประณีตและฝีมืออย่างมากเวลาผ่านมาหลายร้อยปีก็ยังคงอยู่

นอกจากนี้ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ปัจจุบันได้ปิดไปแล้ว ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700  ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายเรื่องชาดกต่าง ๆ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ ภาพเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่ที่ป้าย “บางคนไม่ได้เข้าใจถึงคุณค่าเหมือนกันทุกคนจึงจำเป็นต้องงดให้เข้าชม”เจ้าหน้าที่บอกกับเรา

นอกจากความงดงามของพระอจนะแล้วความลับอีกอย่างที่หลายเล่าสืบต่อกันมาคือเสียงพูดของพระอจนะเรื่องนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ และด้านอื่น ๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม นั่นจึงเป็นที่มาของเรื่องเร้นลับ

ในเมืองสุโขทัยไม่ใช่มีเพียงเรื่องราวของเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ในอดีตเท่านั้น อีกเรื่องเดินคู่ขนานกันมาคือพระเครื่องหรือพระบูชาต้นกำเนิดพระเครื่องหลายรุ่นมีเชื่อเสียงโด่งดัง “พรานกบ” คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุโขทัยอีกคนหลงรักในพื้นถิ่นดั้งเดิมของตัวเอง พยายามสืบทอดและอนุรักษ์พระพิมพ์ของสุโขทัยเอาไว้ทุกพิมพ์ทุกกรุ พรานกบได้รวบรวมประวัติของวัด ผู้สร้างวัด รวมไปถึงชื่อของพิมพ์พระให้ถูกต้องเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองสุโขทัยรวมไปถึงเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกัน นอกจากนี้พรานกบยังเชี่ยวด้านการล่าสัตว์ด้วยอาวุธแบบโบราณอย่างธนูร่วมถึงการดำรงชีพในป่าการก่อไฟด้วยวิธีโบราณ ส่วนดินที่นำมาให้นักท่องเที่ยวพิมพ์พระพรานกบบอกว่าดินทั้งหมดจะเป็นดินของสุโขทัยไม่ได้นำดินมาจากจังหวัดอื่นแน่นอน เพราะต้องการให้พระที่พิมพ์จากบ้านพระพิมพ์เป็นพระของสุโขทัยจริงๆ  

อิ่มเอมทุกความสุขรับพลังบวกธาตุดินกับ ดร.คฑา ชินบัญชร ทุกการเดินทางมักจะทำให้เรามีความสุขเสมอ ปล่อยชีวิตให้ช้าเนิบเดินตามนาฬิกาแล้วมองหาความสุขรอบตัวบ้าง อย่าให้ความเร่งเร้าของวันทำงานหยิบยื่นความเครียดให้เราโดยไม่รู้ตัว มีโอกาสห้ามพลาดดินแดน “รุ่งอรุณแห่งความสุข” สุโขทัยควรต้องมารับพลังบวกสักครั้งขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและบริษัท สานสมพงษ์ จงดี จำกัด ร่วมกันจัดงานนี้

แวะเที่ยวก่อนกลับ

‘60 วัดรับพลังบวก’จังหวัดพิษณุโลก รอยยิ้มเกิดจากการท่องเที่ยว…ทริปนี้เต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มอิ่มบุญเติมสุขด้วยใจเบิกบาน บินตรงกับแอร์เอเชียปลายทางเมืองพิษณุโลก สักการะขอพรในวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร วัดคู่เมืองกราบรับพลังบวกจากพระพุทธชินราช ที่มีคำแปลว่าพระราชาผู้ชนะ ดังนั้นการมากราบถือว่าเราจะชนะศัตรูทั้งปวง แล้วเรายังจะชมพุทธศิลป์งดงามที่สุดในประเทศอีกด้วย 

ห่างกันเพียงข้ามถนนวัดนางพญาก็เป็นอีกแห่งที่เต็มไปด้วยพลังศรัทธา สมเด็จพระนางพญาเรือนแก้ว เปล่งรัศมีอร่ามทั้งองค์ มาถึงแล้วต้องกราบขอพรให้สิ่งดีๆเกิดกับเราและครอบครัว เช่นเดียวกันเรายังได้กราบพลับพลาหทัยนเรศวร์อยู่ติดกันกับวัดนางพญาอันเป็นที่ประดิษฐานของครอบครัวของสมเด็จนเรศวรมหาราช เพื่อดึงดูดสิ่งดีๆให้กับชีวิตเรา ทั้งนี้มี ดร.คฑา ชินบัญชร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสนาและวัฒนธรรมเป็นผู้นำอธิษฐานจิตขอพรครั้งนี้ภายใต้โครงการ “โอมเพี้ยง 60 วัดรับพลังบวก” เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว

ปล่อยอารมณ์เพลินกายสบายก่อนจบทริปที่ร้านกาแฟสุขเสมออิ่มอร่อยท่ามกลางธรรมชาติ โครงการ “โอมเพี้ยง 60 วัดรับพลังบวก”เป็นการร่วมกันระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและบริษัท สามสมพงษ์ จงดี จำกัด จัดกิจกรรมนี้

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2