• 19 พฤศจิกายน 2020 at 10:38

SF90 Spider เอสเอฟ90 สไปเดอร์

ซูเปอร์คาร์เปิดประทุนโปรดักชั่นที่ทรงพลังที่สุดของเฟอร์รารี ยนตรกรรม Plug-in

Hybrid เปิดประทุนคันแรกของเฟอร์รารี่ สร้างขึ้นเพื่อมอบความเพลิดเพลินในการ

ขับขี่ท่ามกลางสายลมที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้

SF90 Spider คือเวอร์ชั่นเปิดประทุนของ SF90 Stradale ซึ่งเผยโฉมอย่างเป็นทางการผ่านการเปิดตัวแบบดิจิทัล งานสุดพิเศษนี้จัดขึ้นเพื่อเหล่าแฟนตัวยงของเฟอร์รารี่ทั่วโลก พร้อมการแนะนำนวัตกรรมต่างๆ และข้อมูลแบบเจาะลึกของขั้นตอนการพัฒนารถ

ในฐานะที่เป็นยนตรกรรม Plug-in Hybrid แบบเปิดประทุนคันแรกจากม้าลำพอง SF90 Spider จึงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับทั้งสมรรถนะและนวัตกรรม ไม่เพียงแค่สำหรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มรถสปอร์ตทั้งหมดอีกด้วย รถเปิดประทุนรุ่นใหม่ล่าสุดคันนี้ มีสเปคและสมรรถนะระดับทำลายสถิติ เช่นเดียวกับที่สุดแห่งซูเปอร์คาร์อย่าง SF90 Stradale ทั้งยังเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นไปอีกขั้น ด้วยหลังคาแข็งแบบพับเก็บได้ (Retractable Hard Top – RHT) สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเฟอร์รารี่ ส่งให้ SF90 Spider เป็นรถในอุดมคติของผู้ที่ต้องการสุดยอดแห่งเทคโนโลยีจากเฟอร์รารี่ ทว่ายังคงหลงใหลความสุขแห่งการขับขี่รถยนต์แบบเปิดประทุน

เป็นอีกครั้งที่หลังคา RHT ถูกพัฒนามาเพื่อรับประกันได้ว่าจะมีเสียงรบกวนน้อยที่สุดและปกป้องผู้โดยสารจากสภาพแวดล้อมภายนอกได้เป็นอย่างดีเมื่อปิดหลังคา ทั้งยังให้พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางและสะดวกสบายสำหรับทุกคน หลังคา RHT มีขนาดกะทัดรัด, เรียบง่าย และน้ำหนักเบา สามารถเปิดหรือปิดในเวลาเพียง 14 วินาที และทำงานได้แม้ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่อยู่ กุญแจสำคัญที่ส่งให้หลังคาแข็งแบบพับเก็บได้ของเฟอร์รารี่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการที่หลังคาใช้พื้นที่เพียง 100 ลิตรในการจัดเก็บ เมื่อเทียบกับหลังคาทั่วไปที่ต้องการพื้นที่ 150-200 ลิตร และด้วยการใช้โครงสร้างอลูมิเนียมจึงมีน้ำหนักเบากว่าหลังคาแข็งแบบพับเก็บได้ทั่วไปราว 40 กก. กระจกหลังแบบควบคุมการ เปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้า ทำให้ผู้โดยสารมั่นใจว่าจะได้รับความสะดวกสบายสูงสุดแม้ขับขี่แบบเปิดหลังคาที่ความเร็วสูงก็ตาม

SF90 Spider มาพร้อมกับสเปกพิเศษ Assetto Fiorana เช่นเดียวกับ SF90 Stradale สำหรับผู้เป็นเจ้าของที่ต้องการเพิ่มความสุดขั้วให้กับการขับขี่ในสนามแข่ง ชุดอุปกรณ์ตกแต่งประกอบด้วยรายการอัพเกรดสุดพิเศษที่ช่วยให้เหนือชั้นกว่ารุ่นมาตรฐานขึ้นไปอีกขั้น ไม่เพียงแค่โช๊คอัพ Multimatic ซึ่งพัฒนามาจากรถแข่ง GT ของม้าลำพองและได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานในสนามแข่ง เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้วัสดุระดับไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ (เช่น คาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียม) ซึ่งช่วยตัดน้ำหนักของรถออกไปได้ถึง 21 กก. สปอยเลอร์หลังผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ยาง Michelin Pilot Sport Cup 2 ออกแบบเพื่อเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ในสนาม ด้วยเนื้อยางที่นิ่มและมีร่องน้อยกว่ายางปกติ ปิดท้ายด้วยลวดลายทูโทนซึ่งเป็นออปชั่นเฉพาะของ Assetto Fiorano ที่จะช่วยเน้นย้ำให้ภาพลักษณ์แบบรถแข่งเด่นชัดขึ้นอีกระดับ

 

ระบบส่งกำลัง (POWERTRAIN) SF90 Spider เป็นรถเปิดประทุนแบบโปรดักชั่นคันแรกของเฟอร์รารี่ที่ใช้พลังขับเคลื่อนแบบ Plug-in Hybrid ซึ่งเครื่องยนต์สันดาปภายในจะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่ล้อหน้า พร้อมระบบ RAC-e (Cornering Angle Regulator, Electric) และมอเตอร์อีกหนึ่งตัวที่ล้อหลังในชื่อ MGUK (Motor Generator Unit, Kinetic) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำมาจากรถแข่ง Formula 1 ของม้าลำพอง และใช้ชื่อเรียกตามรถแข่งคันนั้นด้วยเช่นกัน การทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งสาม ส่งให้รถสามารถปลดปล่อยพลังออกมาได้ถึง 1,000 แรงม้า ยกระดับ SF90 Spider ขึ้นไปสู่ความเป็นรถถนนตัวท็อปของทั้งเฟอร์รารี่ ตลอดจนรถซูเปอร์คาร์ ในกลุ่มเดียวกัน

ระบบขับเคลื่อนของ SF90 Spider ประกอบด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน V8 เทอร์โบ, เกียร์คลัตช์คู่ 8 จังหวะ พร้อมเฟืองท้ายอิเล็กทรอนิกส์, ระบบ RAC-e ที่ล้อหน้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่แยกอิสระจากกัน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนรถด้วยพลังไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียวได้, มอเตอร์ไฟฟ้า MGUK ติดตั้งอยู่ที่ด้านหลัง คั่นระหว่างเครื่องยนต์และชุดเกียร์, แบตเตอรี่แรงดันสูง และระบบควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า (Inverter)

นอกจากพลังมหาศาลถึง 780 แรงม้า (อัตราส่วน 195 แรงม้า/ลิตร) เครื่องยนต์ V8 ยังให้กำลังมากกว่าขุมพลัง V8 เทอร์โบ ทั้งหมดที่เฟอร์รารี่เคยมีมาถึง 60 แรงม้า และเพื่อการถ่ายทอดผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดานี้ วิศวกรของเฟอร์รารี่จึงออกแบบระบบท่อร่วมไอดีและไอเสียใหม่ทั้งหมด เพิ่มประสิทธิภาพระบบของเหลวภายในด้วยการใช้ช่องดักอากาศเรียงตามแนวนอนบริเวณเหนือเครื่องยนต์, องค์ประกอบของชุดเทอร์โบชาร์จเจอร์ถูกปรับตำแหน่งให้ต่ำลง และท่อไอเสียอยู่ในระดับสูงขึ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ได้ทั้งจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงและน้ำหนักโดยรวมที่ลดลง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการใช้ท่อร่วมไอเสียที่เปลี่ยนจากเหล็กมาเป็นวัสดุ Inconel

SF90 Spider มาพร้อมกับชุดเกียร์ 8 จังหวะ คลัตช์คู่แบบแช่ในน้ำมันเกียร์ ที่ได้รับการออกแบบใหม่ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกใน SF90 Stradale รูปแบบที่ดีที่สุดนี้สัมฤทธิ์ผลจากการใช้ระบบดรายซัมพ์และชุดคลัตช์ขนาดกะทัดรัดยิ่งขึ้น พร้อมด้วยเสื้อเกียร์ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าชุดเกียร์ 7 จังหวะของเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ จึงลดความสูงลงไปได้ 15 มม. เมื่อติดตั้งเข้ากับรถ ส่งให้จุดศูนย์ถ่วงของชุดเกียร์ต่ำลง 15 มม.เช่นกัน แม้มีการเพิ่มเกียร์ที่ 8 เข้าไป และยังต้องรับมือกับแรงบิดสูงสุดระดับ 900 นิวตันเมตร (เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเกียร์ 7 จังหวะรุ่นก่อนหน้านี้) ทว่าน้ำหนักโดยรวมของชุดเกียร์น้อยกว่าเดิมถึง 10 กก. ประสิทธิภาพของชุดคลัตช์สูงกว่าเกียร์ 7 จังหวะ 35 เปอร์เซ็นต์ สามารถทนแรงบิดไดนามิกส์ขณะเปลี่ยนเกียร์ได้สูงสุดถึง 1,200 นิวตันเมตร จากการใช้ระบบไฮดรอลิกส์รุ่นใหม่ ความเร็วในการทำงานของคลัตช์เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และเวลาโดยรวมในการเปลี่ยนเกียร์เหลือเพียง 200 มิลลิวินาที ซึ่งดีขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเกียร์ 7 จังหวะ คลัตช์คู่ รุ่นที่แล้ว

เนื่องจากซาวด์แทร็กเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการขับขี่รถยนต์เฟอร์รารี่ จึงต้องพิถีพิถันใส่ใจในการออกแบบระบบไอเสียเป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับคุณภาพเสียงด้วยการเปิดตัวระบบ “Hot Tube” ซึ่งถ่ายทอดเสียงคำรามมาสู่ค็อกพิตชัดเจนยิ่งขึ้น สร้างพลังเสียงที่หนักแน่น, เปี่ยมรายละเอียด ในทุกย่านความถี่ ช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพเสียงภายในห้องโดยสารและความดุดันตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ เมื่อเทียบกับขุมพลัง V8 อื่นๆ ของเฟอร์รารี่รุ่นก่อนหน้านี้

การทำงานของระบบ Hybrid ใน SF90 Spider สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. การส่งกำลัง ขึ้นอยู่กับการเหยียบคันเร่งของผู้ขับ คำนวณโดยระบบควบคุมเครื่องยนต์และระบบควบคุม Hybrid และตรวจสอบอย่างต่อเนื่องโดยระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ โหมดการส่งกำลังสามารถแบ่งออกได้ดังนี้:

- Electric mode ทำงานที่ล้อหน้า (FWD mode - โหมดขับเคลื่อนล้อหน้า)

- Hybrid mode ทำงานที่เครื่องยนต์และมอเตอร์ MGUK (RWD Configuration – ขับเคลื่อนล้อหลัง)

- 4WD Hybrid mode ระบบไฟฟ้าที่ล้อหน้าจะทำงานหากต้องการแรงยึดเกาะขณะออกจากโค้ง และชาร์จพลังงานกลับเมื่อถอนคันเร่ง/เบรก

2. ระบบกู้คืนพลังงาน (ชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่) บริหารจัดการด้วยชุดควบคุมของระบบ Hybrid โดยใช้ 3 รูปแบบ คือ

- เปลี่ยนแรงเบรกเป็นพลังงาน, มีทั้งล้อหน้าและหลัง ทำงานทั้งขณะเบรกปกติและเมื่อ ABS ทำงาน

- ขณะเบรก, ทำงานทั้งล้อหน้าและหลังเมื่อยกคันเร่ง, แยกการควบคุมของล้อหน้าซ้ายและขวา อิสระจากกัน

- ชาร์จโดยใช้เครื่องยนต์, ฟังก์ชั่นการชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ด้วยการเปลี่ยนโหลดระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า MGUK ของล้อหลัง

เมื่อเหยียบเบรกในสภาวะปกติ ระบบกู้คืนพลังงานจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก ระบบเบรกไฮดรอลิกส์จะร่วมทำงานเพื่อช่วยมอเตอร์ไฟฟ้าเมื่อต้องการลดความเร็วอย่างฉับพลัน ที่ความเร็วสูงและในเกียร์สูงมอเตอร์ไฟฟ้าจะเข้ามาร่วมทำงานเมื่อรถมีการยึดเกาะถนนสูง ช่วยให้เวลาในการตอบสนองของเครื่องยนต์เร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราเร่งทางตรงและสมรรถนะโดยรวม 

เนื่องจากการจัดการพลังงานของระบบ Hybrid มีบทบาทสำคัญในการขับขี่ SF90 Spider สวิตช์ Manettino จึงถูกเปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่บนพวงมาลัย และขนานนามใหม่ว่า eManettino ใช้สำหรับบริหารจัดการพลังงานจากแบตเตอรี่และล้อทั้งสี่ (แทร็คชั่น) โดยผู้ขับสามารถเลือกได้ 4 โหมด คือ

• eDrive: เครื่องยนต์สันดาปภายในจะหยุดการทำงาน และแทร็คชั่นทั้งหมดจะอยู่ที่ระบบไฟฟ้าของล้อคู่หน้า เมื่อเริ่มใช้งานด้วยแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มความจุ (7.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง) รถสามารถวิ่งได้สูงสุด 25 กม. ในโหมดนี้เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมืองหรือในสถานการณ์ใดๆ ที่ผู้ขับไม่ต้องการให้เกิดเสียงการทำงานของเครื่องยนต์เฟอร์รารี่ V8 ด้วยการจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 135 กม./ชม. หมายถึงรถยนต์สามารถขับใช้งานโหมดนี้บนถนนนอกเมืองได้ด้วยเช่นกัน

• Hybrid: โหมดนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานโดยรวมของระบบ ชุดควบคุมจะตัดสินใจโดยอัตโนมัติว่าจะให้เครื่องยนต์สันดาปภายในทำงานหรือหยุดการทำงาน พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าจะถูกจำกัดการทำงานเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน

•Performance:ในโหมดนี้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะทำงานตลอดเวลา เนื่องจากเน้นไปยังการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่มากกว่าด้านความประหยัดพลังงาน จึงรับประกันได้ว่าจะมีพละกำลังให้ใช้อย่างทันทีและเต็มประสิทธิภาพทุกเมื่อต้องการ โหมดนี้ดีที่สุดเมื่อต้องการมุ่งเน้นไปที่อรรถรสในการขับขี่และความเร้าใจหลังพวงมาลัย

• Qualify: โหมดนี้จะยอมให้ระบบไฟฟ้าปล่อยพลังทั้งหมดออกมา ด้วยการสั่งให้มอเตอร์ทำงานที่ความสามารถสูงสุด (162 กิโลวัตต์) ระบบควบคุมจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่าการชาร์จแบตเตอรี่

พลศาสตร์ยานยนต์ VEHICLE DYNAMICS เพื่อให้สามารถใช้แหล่งพลังงานทั้งหมดได้อย่างเต็มพิกัด ทีมวิศวกรจึงพัฒนาระบบควบคุมเสถียรภาพของรถเพื่อรับประกันว่าไม่เพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพให้สมรรถนะและเวลาต่อรอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้แน่ใจว่าผู้ขับทุกระดับฝีมือจะสนุกไปกับความสามารถของรถและได้รับความเร้าใจเมื่ออยู่หลังพวงมาลัย สถาปัตยกรรม Hybrid ใหม่ จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างครอบคลุมกับระบบควบคุมต่างๆ ของรถ รวมถึงการควบคุมระบบไฟฟ้าแรงดันสูง (แบตเตอรี่, RAC-e, MGUK, Inverter), ระบบส่งกำลัง และระบบควบคุมเสถียรภาพของรถ (แทร็คชั่น, เบรก, Torque Vectoring)

การผนวกรวมสิ่งเหล่านี้เข้ากับระบบควบคุมที่มีอยู่ นำไปสู่การพัฒนาระบบ eSSC (electronic Side Slip Control) คุณสมบัติใหม่คือ นวัตกรรมการควบคุมเสถียรภาพ 3 ประการ และการกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้งสี่:

- Electronic Traction Control (eTC): จัดการความพร้อมใช้งานของแรงบิดทั้งจากเครื่องยนต์สันดาปภายในและไฟฟ้าอย่างเหมาะสม โดยกระจายไปยังแต่ละล้อเพื่อให้เหมาะกับสภาพการขับขี่และความต้องการแรงยึดเกาะ

- Torque Vectoring: มีให้ที่ล้อหน้า เพื่อจัดการแทร็คชั่นจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อด้านนอกและด้านในขณะเข้าโค้ง เพื่อแรงยึดเกาะสูงสุดเมื่อออกจากโค้ง และช่วยให้ขับขี่ได้อย่างง่ายดาย, มั่นใจ ตลอดจนได้ประสิทธิภาพสูง

- Brake-by-wire control with ABS/EBD: แบ่งแรงบิดจากการเบรกระหว่างระบบไฮดรอลิกส์และมอเตอร์ไฟฟ้า (Brake Torque Blending) ช่วยให้เกิดการกู้คืนพลังงานขณะเหยียบเบรก ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและให้สัมผัสในการเบรกที่ดี สถาปัตยกรรม Hybrid ได้พิสูจน์ความท้าทายในแง่ของการจัดการน้ำหนัก: ในขณะที่น้ำหนักเพิ่มเติม 270 กก. ของระบบ Hybrid  ได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอด้วยพลังพิเศษที่ถ่ายทอดออกมา (220 แรงม้า ด้วยอัตราส่วน น้ำหนัก/แรงม้า ของระบบ Hybrid เพียงอย่างเดียว ที่ 1.23 กก./แรงม้า) ส่วนที่เหลือของรถจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดน้ำหนักอย่างมาก เพื่อให้น้ำหนักโดยรวมลดลงเหลือ 1,670 กก. จนได้อัตราส่วนน้ำหนักต่อกำลัง 1.67 กก./แรงม้า นอกจากนั้น เพลาไฟฟ้า RAC-e ยังช่วยลดความรู้สึกของน้ำหนักได้มากขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงเสถียรภาพและการยึดเกาะขณะเข้าโค้งอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจบนขีดจำกัดสูงสุด และให้ "การลดน้ำหนักมีค่าเทียบได้กับ" น้ำหนักประมาณ 200 กก.

โครงสร้างช่วงล่างของรถก็ได้รับการปรับปรุงใหม่หมด เพื่อรับมือกับแหล่งพลังงานใหม่และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรมอีกมากมายมาใช้ ซึ่งนั่นรวมถึงการใช้ผนังห้องเครื่องที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ล้วน กั้นระหว่างห้องโดยสารและเครื่องยนต์ด้วย ช่วงล่างของ SF90 Spider ถูกเพิ่มความทนทานต่อการบิดตัวมากขึ้นกว่าเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มรุ่นก่อนหน้านี้ โดยน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งมีผลดีอย่างมากต่อเสถียรภาพของรถในภาพรวม

อากาศพลศาสตร์ AERODYNAMICS) ในขณะที่ SF90 Stradale นิยามระดับประสิทธิภาพแอโรไดนามิกส์ให้กับรถจากเฟอร์รารี่ SF90 Spider ได้เพิ่มขีดจำกัดของผลลัพธ์ให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เป้าหมายที่ผลักดันการพัฒนาด้านอากาศพลศาสตร์ของรถตั้งแต่ช่วงแรกสุดของการออกแบบแพลตฟอร์มมีสามประการคือ ต้องได้สมรรถนะระดับเดียวกับ SF90 Stradale เมื่อปิดหลังคา, ลดกระแสลมหมุนวนให้น้อยลง และเพิ่มการไหลเวียนอากาศในห้องเครื่อง การทำงานที่สอดประสานกันระหว่างแผนกอากาศพลศาสตร์และ Ferrari Designทำให้ได้ดาวน์ฟอร์ซและตัวเลขประสิทธิภาพที่ไม่มีรถคันใดในประเภทเดียวกันเทียบได้  และนี่เป็นอีกครั้งที่พวกเขา

ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับของเฟอร์รารี่ ด้วยการขัดเกลารูปทรงของรถให้มีความสปอร์ต คุณสมบัติหลักๆ ของการออกแบบแอโรไดนามิกส์ใน SF90 Spider ประกอบด้วย Gurney ที่ท้ายรถ ซึ่งควบคุมด้วยระบบแบบแอคทีฟ เพื่อแปรผันแรงกดเหนือล้อคู่หลัง, การปิดใต้ท้องรถด้านหน้าพร้อมตัวควบคุมทิศทางอากาศ และล้อฟอร์จรูปทรงแบบกังหัน สมรรถนะที่ได้นั้นน่าประทับใจอย่างแน่นอน: รถที่มาพร้อมสเปกพิเศษ Assetto Fiorano จะสร้างดาวน์ฟอร์ซได้มหาศาลถึง 390 กก. ขณะเข้าโค้งที่ความเร็ว 250 กม./ชม.

เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับ SF90 Stradale จะเพลิดเพลินไปกับพลังทั้ง 1,000 แรงม้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มสมรรถนะ โดยไร้ซึ่งผลกระทบด้านลบจากแรงต้านและไม่ลดแรงกดของแอโรไดนามิกส์ลง จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับการจัดระเบียบการไหลเวียนอากาศร้อนที่มาจากเครื่องยนต์, ชุดเกียร์, เทอร์โบชาร์จ, แบตเตอรี่, มอเตอร์ไฟฟ้า, Inverter, ระบบชาร์จไฟ และแน่นอนที่สุด ระบบเบรก

ตัวอย่างเช่น ห้องเครื่อง ซึ่งบรรจุทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่สร้างความร้อนได้ถึงเกือบ 900 องศาเซลเซียส และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิสูงๆ พื้นที่เก็บหลังคา RHT คือส่วนสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการไหลเวียนความร้อนในห้องเครื่อง เพราะอากาศร้อนจำเป็นต้องถ่ายเทขึ้นไปด้านบนอย่างถูกต้อง และเส้นทางที่ใช้จะต้องไม่รบกวนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่ออุณหภูมิ

เนื่องจากพื้นที่จัดเก็บหลังคาจะไปบดบังช่องระบายอากาศ หากใช้ช่องดักอากาศซึ่งอยู่ด้านหลังของหลังคาแบบเดียวกับใน SF90 Stradale ดังนั้น SF90 Spider จึงเปลี่ยนมาใช้ช่องรับอากาศแบบบานเกล็ดติดตั้งไว้บริเวณกระจกหลัง มันได้รับการกำหนดขนาดมาอย่างแม่นยำมาก เพื่อทำหน้าที่เป็น "ปล่อง" ที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่รบกวนอากาศพลศาสตร์ของรถขณะกำลังทำความเร็ว

เครื่องยนต์สันดาปภายในและชุดเกียร์ ใช้แผงระบายความร้อน 2 ชุด ซึ่งติดตั้งไว้ก่อนถึงล้อหน้าในการลดอุณหภูมิลง อากาศร้อนที่ไหลมาจากแผงระบายความร้อนจะถูกลำเลียงไปยังด้านข้างของแผ่นปิดใต้ท้อง แทนที่จะไหลไปตามส่วนข้างของตัวถัง นั่นหมายถึงอากาศที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างเข้าสู่ช่องรับอากาศหน้าล้อคู่หลังจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแผงอินเตอร์คูลเลอร์ได้มากขึ้น มอเตอร์ไฟฟ้าและ Inverter ถูกลดอุณหภูมิด้วยระบบระบายความร้อนที่แยกออกมาต่างหาก ด้วยแผงระบายความร้อนที่ส่วนหน้าของรถ พร้อมช่องรับอากาศกลางกันชนหน้า

ปิดท้ายด้วย ระบบระบายความร้อนให้กับชุดเบรก ที่ได้รับการออกแบบใหม่หมดเพื่อให้สอดคล้องกับสมรรถนะของ SF90 Spider โดยเฉพาะ คาลิเปอร์ล้อหน้าถูกพัฒนาขึ้นใหม่ และมีแอโรไดนามิกส์ที่ให้ประสิทธิภาพสูงในการไหลเวียนอากาศ ด้วยการรับลมเข้ามาโดยตรงจากช่องดักอากาศใต้ไฟหน้าส่งไปยังผ้าเบรกและดิสก์ ส่วนเบรกหลังระบายความร้อนด้วยอากาศที่ถูกส่งมาจากช่องรับลมใต้ท้องรถใกล้กับล้อคู่หลัง

แรงกดมหาศาลที่เกิดขึ้นกับ SF90 Spider มาจากอุปกรณ์ทางอากาศพลศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ด้านท้ายของรถ: Gurney แบบปิด เพื่อให้ได้สมรรถนะสูงเทียบเท่ากับรุ่นคูเป้ เฟอร์รารี่จึงต้องทุ่มเทให้กับส่วนเว้าส่วนโค้งและพื้นผิวของหลังคา เพื่อบริหารจัดการทิศทางการไหลของอากาศไปยังท้ายรถ Gurney มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งอยู่กับที่ (ขยับไม่ได้) และอีกส่วนซึ่งมีพื้นที่ส่วนหน้าเป็นทรงลิ่มจะเคลื่อนที่ได้ ระบบถูกควบคุมการทำงานโดยการประมวลผลข้อมูลต่างๆ อาทิ ความเร็ว, แรงเร่ง, องศาการหักเลี้ยวพวงมาลัย และแรงกดบนแป้นเบรก นับร้อยครั้งต่อวินาทีเพื่อระบุระดับความต้องการดาวน์ฟอร์ซสำหรับเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัว จากนั้นระบบก็จะเริ่มทำงานโดยมีค่าที่กำหนดไว้ 2 แบบคือ

- Low Drag: ทั้งสองส่วนของ Gurney จะอยู่ในแนวเดียวกันเหนือฝาครอบห้องเครื่อง โดยชิ้นส่วนทรงลิ่มที่เคลื่อนไหวได้จะทำหน้าที่เหมือนแฟริ่งให้กับส่วนที่ขยับไม่ได้ ช่วยให้อากาศไหลผ่านขึ้นด้านบนและลงด้านล่างของ Gurney โดยแทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการไหลเวียนอากาศ

- High Downforce: ชิ้นที่เคลื่อนที่ได้จะลดระดับต่ำลงและปิดพื้นที่การไหลของอากาศส่วนล่าง ที่เคยถูกเปิดโล่งเอาไว้เพื่อให้อากาศไหลผ่านในโหมด Low Drag ตอนนี้ทั้งชิ้นที่เคลื่อนไหวและอยู่กับที่จะร่วมกันสร้างโปรไฟล์อากาศพลศาสตร์ที่สามารถเบี่ยงเบนกระแสอากาศที่มากระทบกับ Gurney แล้วสร้างดาวน์ฟอร์ซในปริมาณมหาศาลขึ้นมา

ดาวน์ฟอร์ซด้านหลังถูกทำให้สมดุลด้วยระบบจัดเรียงกระแสอากาศอันซับซ้อนและทรงประสิทธิภาพที่ส่วนหน้าของรถ ระบบได้รับการปรับแต่งใหม่เพื่อให้เข้ากับความสุดขั้วของ SF90 Spider โดยแชสซีส์ส่วนหน้าของรถสูงขึ้น 15 มม. จากส่วนกลางของจุดที่ติดตั้งระบบจัดเรียงอากาศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณอากาศที่ถูกส่งผ่านเข้ามาและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ข้อเท็จจริงก็คือ ใต้ท้องรถของ SF90 Spider นั้นสามารถสร้างดาวน์ฟอร์ซได้มากกว่ารถรุ่นอื่นๆ ที่เฟอร์รารี่เคยผลิตขึ้นมา นอกจากนั้น ดิฟฟิวเซอร์เบื้องหน้าล้อคู่หน้าและรูปทรงของฝากระโปรงยังมีส่วนช่วยในการสร้างดาวน์ฟอร์ซให้กับเพลาหน้าอีกด้วย

มีการวิจัยด้านอากาศพลศาสตร์โดยเฉพาะเพื่อศึกษาเกี่ยวกับรูปทรงของล้อฟอร์จที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้มีอิสระมากขึ้นในการแก้ปัญหาด้านอากาศพลศาสตร์ องค์ประกอบแนวรัศมีที่ด้านนอกของล้อ มีระยะห่างระหว่างซี่ล้อเท่าๆ กัน และออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เสมือนปีก รูปทรงนี้ช่วยให้ล้อทำงานเหมือนกังหัน ส่งผลให้สามารถไล่อากาศออกจากซุ้มล้อได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแรงดูดที่เกิดขึ้นยังส่งผลดีต่อการไหลของอากาศที่ผ่านมาจากดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้าทั้งสองฝั่งอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น อากาศจะไหลออกจากล้อไปตามแนวยาวตลอดด้านข้างของรถ ช่วยลดการเบี่ยงเบนทิศทางที่เกิดจากมวลอากาศซึ่งไหลออกมาในลักษณะทำมุม ไปยังทิศทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานของรถลงได้

มีองค์ประกอบทางอากาศพลศาสตร์ 2 ส่วนภายในห้องโดยสารที่สร้างขึ้นพิเศษให้กับ SF90 Spider เพื่อรับประกันว่าจะได้ประสิทธิภาพการไหลเวียนอากาศในระดับสูงสุดเมื่อเปิดหลังคา ชิ้นส่วนที่อยู่ระหว่างส่วนกลางของเบาะผู้ขับและผู้โดยสารจะช่วยระบายอากาศออกจากช่วงศีรษะกับไหล่ และไหลเข้าไปสู่ด้านบนของอุโมงค์ ด้วยสองวิธีนี้จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้ระดับความสะดวกสบายเช่นเดียวกับรถแบบสไปเดอร์เครื่องวางกลางรุ่นอื่นๆ ของเฟอร์รารี่

การออกแบบภายนอก(EXTERIOR)การรังสรรค์รูปโฉมภายนอกของSF90 Spiderได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาเดียวกับที่ใช้ในการพัฒนาSF90 Stradale: เพื่อก่อกำเนิดนวัตกรรมเหนือจินตนาการแห่งงานดีไซน์ ที่สื่อให้เห็นทั้งความเป็นรถแข่งและแนวคิดแบบซูเปอร์คาร์รุ่นโปรดักชั่น 

เมื่อปิดหลังคา ด้านข้าง, ด้านหน้า และส่วนท้ายของ SF90 Spider ยังคงมีสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉกเช่น SF90 Stradale นี่ไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จของการจัดการกับหลังคา RHT ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยการใช้ระบบคันโยกอันซับซ้อนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการคงไว้ซึ่งแชสซีส์ที่มีความแข็งแกร่งในระดับเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการขัดเกลาส่วนต่างๆ ของรถ เพื่อให้ฝาครอบเครื่องยนต์ผสานเข้ากับเสา B สไตล์คูเป้ได้อย่างลงตัว ทั้งยังรักษาสไตล์ดั้งเดิมของรถเอาไว้ได้ครบถ้วน แม้กระทั่ง เสาด้านหลังพนักพิงศีรษะทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของรถแบบสไปเดอร์จากเฟอร์รารี่ ก็ผสานกลมกลืนราวกับยกตัวขึ้นมาจากใต้พื้นผิวของตัวถังรถ

สัดส่วนของ SF90 Stradale สามารถถ่ายโอนไปสู่ SF90 Spider ได้อย่างง่ายดาย แม้จะเป็นขณะที่พับหลังคา RHT เก็บไว้ และยิ่งน่าประทับใจขึ้นไปอีก เพราะสามารถมองเห็นเครื่องยนต์ V8 ที่เปรียบดั่งเพชรเม็ดงามได้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นตอนปิดหรือเปิดหลังคาก็ตาม เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นว่าเสาหลังทั้งสองฝั่งจะอยู่ในแนวเดียวกับเบาะนั่ง ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยด้านหลังเมื่อเปิดหลังคา ทั้งยังเน้นย้ำความเป็นรถแบบ 2 ที่นั่ง ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นอีกด้วย

บริเวณห้องโดยสารและหลังคามาพร้อมกับสไตล์แบบรถคูเป้ ช่วยลดแรงต้านและตอกย้ำให้เห็นถึงความเร้าใจของรถโดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความสะดวกสบายในห้องโดยสาร ค็อกพิตที่เยื้องมาด้านหน้ารถมีหลังคาต่ำลง 20 มม., เสา A เพรียวบางยิ่งขึ้น และกระจกหน้าที่ลาดเอียงกว่าเดิม  SF90 Spider มีเสน่ห์เย้ายวนใจเมื่อเปิดหลังคา เคียงคู่ไปกับร่างเงาที่ถอดแบบมาจาก SF90 Stradale การไม่มีหลังคาช่วยทำให้รถดูเตี้ยลงอย่างเห็นได้ชัด ความประทับใจยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยการใช้สีหลังคาที่ตัดกันทำให้เสาหลังดูสะดุดตายิ่งขึ้น

ด้านหน้าโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่เน้นให้เห็นถึงบุคลิกอันดุดันของรถ ช่องรับอากาศทั้งสามบริเวณนี้ทำหน้าที่ลดอุณภูมิให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า (ช่องด้านหน้า) และเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ช่องด้านข้าง) นอกจากนั้น SF90 Spider ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีไฟหน้า Matrix LED ที่จะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในทุกสภาพการขับขี่ไปอีกขั้นด้วยระบบปรับการส่องสว่างแบบแอคทีฟ

 

ท้ายรถสะดุดตาด้วยปลายท่อไอเสียที่อยู่ในตำแหน่งสูง ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงเลย์เอาท์ของทางเดินไอเสียใหม่ กลิ่นอายสไตล์รถแข่งถูกนำมาใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อตอกย้ำบุคลิกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสนามแข่งของ SF90 Spider วงแหวนของชุดไฟท้ายที่กว้างกว่าปกติช่วยสร้างภาพลักษณ์ของไฟท้ายให้ดูเป็นแนวนอนมากขึ้น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไฟทรงกลมอันเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กับรถแบบ Berlinetta เครื่องยนต์วางกลางของเฟอร์รารี่

การออกแบบภายใน(INTERIOR)ภาพลักษณ์และสัมผัสของห้องโดยสารได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากระบบ HMI (Human Machine Interface) ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของ SF90 Stradale มาตรวัดเป็นแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยจอภาพจจะดำสนิทหากรถไม่มีการเคลื่อนที่ นำมาซึ่งภาพลักษณ์แบบมินิมัลภายในห้องโดยสาร อย่างไรก็ตาม เมื่อกดสวิตช์สตาร์ทรถบนพวงมาลัย อุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหมดของรถจะเริ่มส่องสว่างอย่างมีชีวิตชีวาขึ้นทั่วห้องโดยสาร 

จอแสดงผลส่วนกลางเป็นแบบชิ้นเดียวขนาด 16 นิ้ว ความคมชัดสูง หน้าจอแบบโค้งเข้าหาตัวผู้ขับทำให้สามารถอ่านค่าต่างๆ ได้ง่าย ทั้งยังเน้นย้ำให้เห็นความถึงความแพรวพราวในค็อกพิตได้เป็นอย่างดี ในค่าเริ่มต้นของหน้าจอ จะมาพร้อมกับการแสดงมาตรวัดรอบขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยไฟแสดงสถานะของแบตเตอรี่ ระบบนำทางจะแสดงผลข้างๆ มาตรวัดรอบ ส่วนระบบควบคุมเครื่องเสียงจะอยู่อีกด้านหนึ่ง หน้าจอขนาดใหญ่หมายถึงการปรับการแสดงผลข้อมูลต่างๆ ได้หลากหลาย ซึ่งทำได้ผ่านชุดควบคุมที่ติดตั้งอยู่บนพวงมาลัย ตัวอย่างเช่น เลือกให้หน้าจอแสดงภาพแผนที่ของระบบนำทางแบบเต็มพื้นที่หน้าจอ เป็นต้น

ข้อมูลหลักๆ จะแสดงผลบนกระจกหน้ารถผ่านระบบ Head-up Display นั่นหมายถึง การมีสมาธิขณะขับขี่มากขึ้น ตรงตามปรัชญา “ตาอยู่บนถนน มืออยู่บนพวงมาลัย” ที่ผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ HMI ขึ้นเพื่อใช้กับรถแข่ง Formula 1 ของเฟอร์รารี่ทุกคัน ก่อนที่จะถ่ายทอดมาสู่รถถนนของเรา

พวงมาลัยของ SF90 Spider ได้รับการถ่ายทอดมาจากโลกแห่งการแข่งขันอย่างครบถ้วน และยังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการใช้ระบบสั่งงานด้วยการสัมผัส ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้เกือบทุกฟังก์ชั่นโดยไม่ต้องละมือออกจากพวงมาลัย การควบคุมพื้นฐานประกอบด้วย สวิตช์ Manettino, การควบคุมไฟหน้าบนพวงมาลัย, ที่ปัดน้ำฝน และไฟเลี้ยว แป้นฝั่งขวาของระบบสั่งงานด้วยการสัมผัส ใช้สำหรับควบคุมจอแสดงผลส่วนกลาง ในขณะที่ระบบเสียงและครูสคอนโทรลอยู่ที่แป้นฝั่งซ้ายของก้านพวงมาลัย ในบริเวณส่วนล่างด้านซ้ายของพื้นที่ช่วงกลางคือปุ่มทั้งสี่ที่ใช้สำหรับเลือกโหมดการขับขี่

“F1 Bridge” เอกลักษณ์สำคัญของรถรุ่นก่อนหน้านี้ ได้หายไปจากคอนโซลกลางแล้วแทนที่ด้วยร่องเกียร์ที่ล้ำสมัย สไตล์เดียวกับร่องเกียร์ธรรมดาที่มีอยู่ในรถยนต์เฟอร์รารี่รุ่นตำนาน อย่างไรก็ตาม ร่องเกียร์แบบใหม่นี้แสดงผลแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเกียร์อัตโนมัติ ส่วนล่างสุดของอุโมงค์เกียร์ใช้สำหรับเก็บรีโมทกุญแจที่มีตราสัญลักษณ์ม้าลำพองแบบเดียวกับที่เห็นได้จากบนฝากระโปรงหน้า ช่วยเสริมสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น กุญแจทำงานแบบ Keyless เต็มรูปแบบ ดังนั้น ผู้ขับจึงไม่เพียงแค่สตาร์ทรถได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องเสียบกุญแจเท่านั้น แต่ยังสามารถเปิดประตูรถได้โดยไม่ต้องหยิบกุญแจออกมาจากกระเป๋าอีกด้วย

บริการดูแลรักษา 7 ปี (7 YEARS MAINTENANCE)

มาตรฐานคุณภาพที่เหนือชั้นของเฟอร์รารี่และการมุ่งเน้นที่การให้บริการลูกค้าเป็นหัวใจหลัก เฟอร์รารี่จึงมีโปรแกรมการบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี ให้กับผู้เป็นเจ้าของ SF90 Spider โปรแกรมนี้ครอบคลุมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถยนต์เฟอร์รารี่ทุกรุ่น การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยอยู่เสมอ บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อเฟอร์รารี่มือสองด้วยเช่นกัน

การบำรุงรักษาปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง) อะไหล่แท้และการตรวจสอบอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมเฟอร์รารี่ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้มีให้สำหรับตัวแทนจำหน่ายเฟอร์รารี่อย่างเป็นทางการทั่วโลก 

โปรแกรม Genuine Maintenance จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดยเฟอร์รารี่เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโลด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำ

SF90 Spider

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค

 

เครื่องยนต์

ชนิด 90° V8 เทอร์โบ - ดรายซัมพ์

ความจุกระบอกสูบ 3,990 ซีซี

กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 มม. x 82 มม.

กำลังสูงสุด* 780 แรงม้า ที่ 7,500 รอบ/นาที

แรงบิดสูงสุด 800 นิวตันเมตร ที่ 6,000 รอบ/นาที

ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงสุด 8,000 รอบ/นาที

อัตราส่วนกำลังอัด 9.4:1

 

มอเตอร์ไฟฟ้า

กำลังสูงสุด 162 กิโลวัตต์ (220 แรงม้า)

ระยะทางสูงสุด 25 กม.

ความจุแบตเตอรี่ 7.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง

มิติและน้ำหนัก

ความยาว 4,704 มม.

ความกว้าง 1,973 มม.

ความสูง 1,191 มม.

ความยาวฐานล้อ 2,649 มม.

ความกว้างฐานล้อหน้า 1,679 มม.

ความกว้างฐานล้อหลัง 1,652 มม.

น้ำหนักรถเปล่า** 1,670 กก.

น้ำหนักรถเปล่า/แรงม้า 1.67 กก./แรงม้า

อัตราส่วนการกระจายน้ำหนัก หน้า 45% / หลัง 55%

ความจุที่เก็บสัมภาระ 74 ลิตร

ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 68 ลิตร (สำรอง 11 ลิตร)

ขนาดล้อและยาง

หน้า 255/35 ZR 20 J9.5

หลัง 315/30 ZR 20 J11.5

ระบบเบรก

หน้า 398 x 223 x 38 มม.

หลัง 360 x 233 x 32 มม.

เกียร์และระบบขับเคลื่อน

- ชุดเกียร์ F1 แบบ 8 จังหวะ คลัตช์คู่, ขับเคลื่อนสี่ล้อ (AWD), ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยระบบไฟฟ้า

- ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์: eSSC: E4WD (eTC, e-Diff3), SCME-Frs, FDE 2.0, EPS; ABS/EBD แบบไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ พร้อมระบบกู้คืนพลังงาน

สมรรถนะ

กำลังรวมสูงสุด*** 1,000 แรงม้า (735 กิโลวัตต์)

0-100 กม./ชม. 2.5 วินาที

0-200 กม./ชม. 7.0 วินาที

100-0 กม./ชม. < 29.5 เมตร

ความเร็วสูงสุด 340 กม./ชม.

เวลาต่อรอบที่สนาม Fiorano 79.5 วินาที

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและมาตรฐานการปล่อยมลพิษ

เป็นไปตามข้อกำหนด (WLTC cycle)

 

* ด้วยน้ำมันเบนซินออกเทน 98 

** ติดตั้งออปชั่นพิเศษ

*** eManettino ถูกปรับเป็นโหมด Qualify

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2