• 15 ธันวาคม 2020 at 11:04

TICKS BITE 

“เห็บกัด...” 

...บางรายมีอาการแพ้ และอักเสบเรื้อรังก็ต้องฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือต้องตัดตุ่มที่อักเสบออกเพื่อเป็นการกำจัดเศษของเขี้ยวเห็บที่ติดฝังอยู่ออกไปอย่างเด็ดขาด... 

สวัสดีปีใหม่ครับ แฟนๆ ออโตวิชั่นแอนด์ทราเวล ที่น่ารักทุกๆ ท่าน UNSEEN DOCTOR ขอส่งความปรารถนาดี เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2564 ให้ทุกๆ ท่านพบแต่ความสุขความเจริญนี้โดยถ้วนหน้ากัน

ต้นปีอากาศหนาวเย็นตามฤดูกาลอันเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะตามยอดดอยป่าเขาในภาคเหนือและอีสานในปีนี้อาจจะลดความคึกคักไปบ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดจากความประมาทผสมความตั้งใจละเมิดกฎหมายของบุคคลบางกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายมูลค่ามหาศาลต่อส่วนรวมที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของพวกตน

ปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวเด็กหญิงคนหนึ่งถูกเห็บเข้าไปกัดในช่องหูจนส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตชั่วคราวของริมฝีปากและใบหน้าไปหนึ่งซีก ทั้งที่ที่บ้านก็ไม่ได้เลี้ยงสัตว์อะไรที่มีเห็บมาเกาะอาศัยอยู่ จึงอยากจะกล่าวทบทวนถึงเรื่องของเห็บที่ไม่จำเป็นว่าต้องพบแต่ตามบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่มีโอกาสพบได้ในป่าอีกด้วยซึ่งจะเป็นเรื่องใกล้ตัวของกลุ่มผู้ที่นิยมชมชอบการไปเที่ยวสัมผัสลมหนาวตามป่าตามเขา โดยเฉพาะในรูปแบบแคมป์ปิ้งกางเต็นท์ใกล้ชิดแนบสนิทกับธรรมชาติ 

เห็บ(Ticks) ที่พบในป่า มีลักษณะเหมือนกับเห็บที่เราเคยพบเห็นกันทั่วไปตามตัวสุนัขบ้าน เป็นปาราสิตที่กินเลือดสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร วงจรชีวิตก็คล้ายกัน คือวางไข่แพร่พันธุ์ตามพื้นดิน และขยายพันธุ์ได้ดีในช่วงอากาศแห้งแล้งอย่างเช่นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี 

นักท่องเที่ยวมีโอกาสถูกเห็บป่ากัดเอาได้ในกรณีที่เข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่า โดยมากมักเป็นพวกกวางซึ่งในอุทยานแห่งชาติบางแห่งจะมีกวางที่เข้ามาหาของกินใกล้ๆ ที่พักของนักท่องเที่ยว ส่วนอีกกรณีก็คือการผ่านเข้าไปหรือไปตั้งแค้มป์กางเต็นท์ในพื้นที่ๆ เป็นทางสัญจรของสัตว์ป่าอันเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเห็บป่า

เมื่อถูกเห็บกัดก็มักจะไม่รู้ตัวแม้ลักษณะการกัดจะเป็นการกัดมุดจมลึกลงไปในผิวหนัง เนื่องจากเห็บจะปล่อยน้ำลายที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวและทำให้มีอาการชาบริเวณที่ถูกกัด กระทั่งกินเลือดจนอิ่มและปล่อยทิ้งตัวหลุดไป แผลที่ถูกกัดมักจะเป็นตุ่มแดงคันจากพิษของน้ำลาย มีการอักเสบเล็กน้อย บางรายกินเวลาหลายเดือนหรือถึงครึ่งปีก็มีกว่าจะหายขาด หากเกาจนเป็นแผลถลอกก็มีโอกาสติดเชื้อเป็นหนอง และมีโอกาสเป็นแผลเป็นอีกด้วย

ในรายที่รู้ตัวว่าโดนเห็บกัดและรีบดึงตัวเห็บออกนั้น ไม่ว่าจะโดยมือเปล่าๆ (เล็บ) หรือใช้แหนบ ก็มักจะมีบางส่วนของเห็บ(เขี้ยว) ขาดจากตัวเห็บหลุดฝังจมอยู่ในแผลซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากยิ่งขึ้น อันเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อพิษจากโปรตีนบางอย่างที่เขี้ยวนั้นๆ และคันนานยิ่งกว่าแผลเห็บกัดแบบไม่ฝังเขี้ยว คือจนกว่าร่างกายจะขับเศษเขี้ยวออกมาพ้นผิวหนังนั่นเอง ในผู้ที่มีอาการแพ้ แผลเห็บกัดที่มีเศษเห็บติดค้างอยู่จะเกิดเป็นตุ่มอักเสบนูนพร้อมๆ กับอาการคัน เกิดผื่นคล้ายๆ ลมพิษขึ้นทั้งตัว และกรณีตัวเห็บแตกออกระหว่างรีบดึงเห็บออกนั้น เลือดผสมของเหลวในตัวเห็บที่เปรอะเปื้อนบริเวณแผลถูกกัดก็ยังมีโอกาสติดเชื้อจากความสกปรกของของเหลวในตัวเห็บ โดยอาการติดเชื้ออาจทุเลาได้ใน 1-3 วันเมื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าโชคไม่ดีอาจมีอาการแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ ไขข้ออักเสบต้องรักษากันอย่างใกล้ชิด บางรายมีอาการแพ้และอักเสบเรื้อรังก็ต้องฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือต้องตัดตุ่มที่อักเสบออกเพื่อเป็นการกำจัดเศษของเขี้ยวเห็บที่ติดฝังอยู่ออกไปอย่างเด็ดขาด โดยในการรักษาแผลเห็บกัดนั้น หากมีอาการถึงขนาดอักเสบเป็นตุ่มนูนแดงคันเรื้อรังก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเป็นดีที่สุด 

ทั้งนี้ วีธีที่เหมาะสมที่สุดเมื่อรู้ตัวว่าถูกเห็บกัด ก็คือใช้แหนบที่มีปลายเฉียงคีบช้อนส่วนปากของเห็บ แล้วค่อยๆ ดึงออกมาอย่างระมัดระวัง ให้เห็บหลุดออกมาทั้งตัว ถ้าพบว่าบางส่วนของเห็บขาดฝังอยู่ ก็ต้องรีบใช้ของมีคมที่ทำความสะอาดมาอย่างดีอย่างเช่นปลายเข็มฉีดยามาสะกิดออกแบบเดียวกับการบ่งหนามออกมานั่นเอง

อากาศเย็นๆ ต้นปีอย่างนี้ ถ้าคิดจะไปรับลมหนาวกันตามป่าตามเขา หรือแม้แต่ฟาร์มปศุสัตว์หรือตามสวนสัตว์เปิด ก็อย่าลืมระวังเรื่องเห็บด้วย ไม่ควรใกล้ชิดสัตว์เกินเหตุ ไม่ตั้งเต็นท์ค้างแรมในแหล่งที่มีสัตว์ใช้เป็นทางสัญจรหลีกเลี่ยงการเดินเข้าไปในที่พงรก ไม่เดินให้ใบไม้ระตัวระเสื้อผ้า ไม่นั่ง-นอน ตามขอนไม้ หรือบนกองใบไม้แห้งโดยตรง ยิ่งพื้นแห้งๆ ไกลแหล่งน้ำยิ่งมีโอกาสเจอเห็บ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อให้มองเห็นได้ง่ายเมื่อถูกเห็บไต่ พกแว่นขยายไปด้วยยิ่งดี และศึกษาเรื่องยาหรือสารเคมีป้องกันแมลงมีพิษต่างๆ จากผู้รู้ เพื่อเลือกใช้ให้ได้ผลสูงสุด (ภาพ :doyourpart.com)

 

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2