• 22 มกราคม 2021 at 14:23

 

THE MASK 

ว่าด้วยเรื่องใกล้ตัวในวิกฤติโรคระบาด 

“...หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย มีผลต่อปริมาณของออกซิเจนในระหว่างหายใจหากสวมใส่เป็นเวลา นานๆ จะรู้สึกอึดอัด เหนื่อยง่าย ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้น...” 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน AUTOVISION & TRAVEL และแฟนๆ UNSEEN DOCTOR ที่เคารพรักทุกๆ ท่าน ย่างเข้าเดือนที่สองของปีที่เราๆ ท่านๆ ต้องสะสมความเครียดกันตั้งแต่วันแรกของปี จากการระบาดของไวรัส โควิด-19 “ระลอกใหม่” ตามที่ทราบกัน

ก่อนที่จะมีการใช้วัคซีนป้องกัน โควิด-19 อย่างทั่วถึงในบ้านเรา (กลุ่มเสี่ยงและประชาชนในประเทศอย่างน้อย 50% ภายในปี 2564) ก็คงต้องป้องกันตนเองกันไปก่อน ในกระบวนการที่เผยแพร่กันตั้งแต่การระบาดระลอกแรกด้วยการหลีกเลี่ยงการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)แนะนำก็คือ การใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำได้ตลอดเวลาที่ต้องพบปะกับผู้คน โดยเป็นทั้งการป้องกันเชื้อจากภายนอก และป้องกันการแพร่เชื้อจากตัวเราเองออกสู่ผู้อื่น โดยที่ในการระบาดครั้งนี้ หน้ากากอนามัย (หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ : Surgical Mask) มีแนวโน้มว่าจะไม่ขาดตลาดและราคาไม่แพงขูดเลือดขูดเนื้อเหมือนเมื่อครั้งเกิดการระบาดครั้งแรก ด้วยว่ามีผู้ผลิตหน้ากากผ้าคุณภาพดีๆ ที่มีคุณสมบัติทดแทนกันได้วางจำหน่ายอยู่หลากหลาย และทางการกำหนดราคาหน้ากากอนามัยไว้แผ่นละไม่เกิน 2.50 บาท(รวม VAT) ซึ่งผู้ค้าบางรายก็อาจจะหาวิธีการบวกค่าขนส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลงไปเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดแต่ก็คงทำได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวหน้ากากอนามัยของผู้จำหน่ายบางรายราคาแพงอย่างน่าเหลือเชื่อคือแผ่นละ 7 บาทก็ตาม ส่วนหน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 แบบไม่มี Valve นั้น (หน้ากากอนามัย N95 ถูกออกแบบมาให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในห้องปฏิบัติการเชื้อโรค) ป้องกันการรับเชื้อ/แพร่เชื้อได้สูงสุด แต่มีราคาสูง และไม่สามารถใส่ติดหน้าอยู่ตลอดเวลาทั้งวันได้ด้วยเหตุที่อากาศผ่านไม่สะดวกเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากผ้า

สำหรับผู้ที่สะดวกใช้หน้ากากผ้ามากกว่าหน้ากากอนามัยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามนั้น ก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาคต่างๆ รวมถึงละอองของเหลวที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศนั้นย่อมน้อยกว่าหน้ากากอนามัย แต่จากการทดสอบพบว่ามีความปลอดภัยเพียงพอถ้าไม่ใช่การถูกจามหรือไอใส่ตรงหน้า โดยหน้ากากผ้าที่เหมาะสมนั้น ต้องผลิตจากวัสดุที่สามารถจับอนุภาคและละอองฝอยได้แต่ก็หายใจผ่านสะดวก ควรเป็นหน้ากากผ้าที่ไม่ใช่ผ้ายืดหรือโฟม(ประสิทธิภาพการกรองต่ำ) ควรทำจากผ้าตั้งแต่ 2 ชั้น มีผ้าชั้นนอกที่มีคุณสมบัติไม่ดูดซึมน้ำ(ของเหลว) ส่วนชั้นในที่สัมผัสใบหน้าเป็นผ้าที่ดูดซับน้ำได้เพื่อกักเก็บไว้ไม่ให้ออกสู่ภายนอก ซึ่งหน้ากากจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานสูงมักจะมีรายละเอียดแจ้งด้วยว่าผลิตจากผ้าอะไร ทนความร้อน(สำหรับการซักทำความสะอาด)ได้เพียงใดด้วย

ทั้งนี้ ทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยมีผลต่อปริมาณของออกซิเจนในระหว่างหายใจหากสวมใส่เป็นเวลานานๆ จะรู้สึกอึดอัด เหนื่อยง่าย ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้น นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอาจจะปรับตัวได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดอาการมึนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม หรืออาจถึงขนาดเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลันได้ (แต่ไม่ใช่เพราะใส่หน้ากากอนามัยนานๆ ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อย่างที่มักเข้าใจผิดกัน) ส่วนผ้าบัฟ(BUFF)นั้น ใช้ปิดจมูกแล้วหายใจได้สะดวกที่สุด แต่ประสิทธิภาพในการป้องกัน(กรองอนุภาคหรือละอองน้ำลาย)ต่ำที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวะไอ หรือจามของผู้ใช้และไม่จัดอยู่ในประเภท “หน้ากากผ้า”หรือ”หน้ากากอนามัย” ในพื้นที่ที่มีการบังคับให้ใช้หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายกลางแจ้งประเภท Running หรือ Jogging หรืออื่นๆ แนว Aerobic Exercise ในที่สาธารณะซึ่งมีกฎระเบียบหรือคำสั่งให้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบ 100% นั้น ช่วงนี้ควรงดไปก่อน หาสถานที่เป็นส่วนตัวใช้ออกกำลังกายแทน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและเพื่อความสบายใจของผู้อื่นไม่ให้ต้องมาคอยระแวงว่าท่านจะเป็นผู้แพร่เชื้อหรือไม่ เนื่องด้วยว่าการใส่หน้ากากอนามัยในระหว่างออกกำลังกายจะทำให้ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้น ในกรณีหน้ากากอยู่ในสภาพเปียกชุ่ม(เหงื่อ) ยิ่งแล้วใหญ่ ถึงแม้จะเป็นหน้ากากอนามัยแบบ Sport Mask ก็ตาม

หวังให้ทุกท่านผ่านวิกฤตินี้อย่างปลอดภัยไปด้วยกัน แล้วก็อย่าละเลย App ไทยชนะ และ App หมอชนะ นะครับ เรื่องง่ายๆ เพื่อประโยชน์แก่ทั้งตัวท่านเองและเพื่อส่วนรวม.

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2