• 25 มีนาคม 2021 at 10:59

Sudden Cardiac Arrest 

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ป้องกันด้วยลดปัจจัยเสี่ยง

“ถ้ามีอาการอื่นๆ ร่วม ได้แก่ เจ็บหน้าอกนานเกิน 20 นาที พักแล้วก็ไม่หาย เหนื่อยหอบ เป็นลม ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าอาการหัวใจขาดเลือดจะรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นหัวใจวายในที่สุดได้” 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านแฟนๆ ออโตวิชั่นแอนด์ทราเวล ที่เคารพรักทุกๆ ท่าน วันนี้เราจะมาว่ากันในเรื่องอาการเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ควรจะเป็นที่สนใจนอกจากตัวละครในละครโทรทัศน์ที่จะเห็นได้บ่อยมาก

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน : Sudden Cardiac Arrest เป็นอาการที่เกิดจากการตายของกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน จากการที่ขาดเลือดที่ไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นๆ หัวใจจึงทำงานผิดปกติ ไม่มีการบีบตัวส่งเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ หรือหยุดเต้นทันที ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็ทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักมาจากการอุดตัน หรือการตีบตันที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ จากการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ การเกาะผนังหลอดเลือดหัวใจของแคลเซี่ยม เกิดเป็นคราบที่เรียกว่า พลัค(Plaque)

ผนังหลอดเลือดหัวใจซึ่งปกติจะมีความยืดหยุ่นเปลี่ยนเป็นแข็ง หนา หลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลผ่านได้ไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือขณะออกกำลังกายเพราะขาดออกซิเจน(angina pectoris) แน่นหน้าอก คล้ายถูกของหนักกดทับอาจเจ็บร้าวไปถึงไหล่ แขนซ้าย ขากรรไกร หลังบางรายก็อาจมีอาการเมื่อตกอยู่ในสภาวะเครียด อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกนี้จะทุเลาเมื่อหยุดพักหรือหายในไม่เกิน 15-30 นาที ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวก็สมควรจะต้องปรึกษาแพทย์แล้วไม่ควรคิดนิ่งเฉยว่าไม่เป็นไรทั้งนี้หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนเกิดความเสียหายมากไม่สามารถสูบเฉียดเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอก็เกิดอาการคลื่นไส้ เหงื่อออก เวียนศีรษะ อาเจียน หน้ามืด หมดสติได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดก้อนไขมันหรือพลัคในหลอดเลือดหัวใจ การตีบตันของหลอดเลือด ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ พบในเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิง อายุมากกว่า 55 ปี

อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการตีบตันในหลอดเลือดหัวใจ มีผลต่อคุณภาพชีวิตแต่เมื่ออยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็สามารถควบคุมอาการไม่ให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หรือทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีกรณีเกิดตีบตันอย่างรุนแรง เช่นการทำบอลลูน หรือใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ ในการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจนั้น ถ้าทดสอบจากการวิ่งสายพาน จะตรวจพบความผิดปกติถ้าหลอดเลือดตีบเกิน 70% และถ้าฉีดสีก็จะแสดงผลชัดเจน อาจจะรักษาได้ด้วยการกินยา และกรณีที่ผลการวิ่งสายพานปกติไม่ได้หมายความว่าวางใจได้ 100 % เพราะถึงหลอดเลือดตีบไม่ถึง 50% ไม่มีผลต่อการไหลเวียนของเลือด แต่ถ้ามีการฉีกขาดของพลัค (plaque rupture) หรือเกิดแผลที่พลัค (plaque erosion) ที่ผนังหลอดเลือดบริเวณนั้น เกิดเป็นกลุ่มเกร็ดเลือด และรวมตัวเกาะกันเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลันก็จะเกิดอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เหงื่อออกมาก ตัวเย็น หัวใจหยุดเต้น ซึ่งถ้าถึงขั้นนี้ต้องได้รับการกู้ชีพ(CPR) โดยทันที

ในการป้องกัน หากพบว่าตนเองมีอาการเจ็บหน้าอกก็สมควรจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการ ซึ่งอาจจะต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเจาะเลือดตรวจไขมันหรือคอเลสเตอรอลและถ้ามีอาการอื่นๆ ร่วม ได้แก่ เจ็บหน้าอกนานเกิน 20 นาที พักแล้วก็ไม่หาย เหนื่อยหอบ เป็นลม ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าอาการหัวใจขาดเลือดจะรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นหัวใจวายได้ในที่สุด

สำคัญที่สุดคือการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (risk factors) ได้แก่การควบคุมน้ำหนักตัว ถ้ามีอาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูงก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายให้พอเหมาะต่อสุขภาพไม่หนักจนเกินไปจนมีผลต่อหัวใจ

ภาพประกอบ : medstro.com

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2